มิติหุ้น – นางสาวจีรนันท์ หิรัญญสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย ปัจจุบันธุรกิจจีนส่วนใหญ่ได้กลับมาเปิดดำเนินการ รวมถึงหลายบริษัทที่ทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโรค
ตลาดเครื่องประดับจีนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลักซึ่งมีกำลังซื้อ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น เมืองกวางโจว โดยเครื่องประดับทองได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าทางสังคม คนหนุ่มสาวจีนสนใจเครื่องประดับทองที่มีลวดลายสวยงาม
“พลอยสีเป็นอัญมณีไทยที่ได้รับความนิยมมากในตลาดจีน โดยเฉพาะทับทิมและไพลิน เนื่องจากมีคุณภาพ ความประณีต ความคงทน และเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนใคร ขณะที่เครื่องประดับเงินก็เป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจจากชาวจีนมากขึ้น โดยชาวจีนชอบดีไซน์ที่มีลวดลายทันสมัย และนิยมซื้อให้เป็นของขวัญ
ทั้งนี้ งานวิจัย China Luxury Report 2019 ระบุว่า การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในจีนมีมูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านหยวนในปี 2561 ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคที่เกิดในยุค 80 ประมาณร้อยละ 54 กลุ่มผู้บริโภคที่เกิดในยุค 65-70 ประมาณร้อยละ 24 และกลุ่มที่เกิดในยุค 90 ร้อยละ 22 โดยแต่ละกลุ่มมีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มผู้บริโภคยุค 65-70 ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้า ขณะที่ประมาณร้อยละ 50 ของกลุ่มผู้บริโภคยุค 90 พร้อมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ หากมีข้อเสนอดี เช่น ดีไซน์ถูกใจ โปรโมชั่นราคาดี
นางสาวจีรนันท์ แนะนำว่า ความเข้าใจตลาดและความต้องการตลาดของผู้บริโภค และกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในจีนได้สำเร็จ โดยจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและแบรนด์ดังระดับโลก
“หลังการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคจีนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปีนี้” นางจีรนันท์ กล่าวเพิ่มเติม
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปตลาดจีนมีมูลค่ารวม 22.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 80.69 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินมีมูลค่ารวม 20.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 61.31
สำหรับอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ในประเทศไทย งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดนานาชาติ โดยงานบางกอกเจมส์ถือเป็นเวทีแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ผู้ประกอบการชาวไทยและต่างประเทศรวมตัวกัน เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และศักยภาพของประเทศไทยสู่สายตานักธุรกิจและผู้นำเข้าจากทั่วโลก ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก
www.mitihoon.com