ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว ท่ามกลางความตึงเครียดสหรัฐฯ – จีน

60

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 32-37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 – 5 มิ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบผันผวน แม้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลกและกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรมีแนวโน้มลดลงตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุอีกครั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ในฮ่องกง โดยสหรัฐฯ ขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของฮ่องกง หลังจีนกำลังพิจารณาใช้กฎหมายควมคุบฮ่องกง ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจโดยภาพรวม

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันรับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดยล่าสุด รัฐบาลอังกฤษจะอนุญาตให้มีการเปิดร้านค้าและศูนย์การค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ตามมาตรการผ่อนคลายปิดเมืองในเฟสที่สอง นอกจากนี้ รัฐบาลสเปนอนุญาตให้หาดบางแห่งเปิดรับผู้คนอีกครั้งและมีการรวมกลุ่มของคนมากกว่า 10 คนได้แล้วในกรุงแมดริดและนครบาร์เซโลนา
  • กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเตรียมพิจารณาขยายระยะเวลาข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตลงราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 ออกไป โดยกลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 มิ.ย. 63

 

  • จำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 22 พ.ค. ลดลง 21 แท่น สู่ระดับ 318 แท่น ซึ่งต่ำสุดเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
  • ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังรัฐบาลจีนพิจารณาใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ต่อฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของฮ่องกง ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจใช้กฎหมายดังกล่าวของจีนในฮ่องกง
  • รัฐบาลจีนงดการประกาศเป้าหมายการขยายตัวจีดีพีในปี 63 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยจีนให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการขยายตัวจีดีพีของจีนในปี 63 จะอยู่ที่ราว 2%-3% ลดลงจาก 1% ในปี 62
  • สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 พ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 530 ล้านบาร์เรล
  • อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนมาตรการลดกำลังผลิตตามแผนเดิมในเดือน ก.ค. 63 ให้กลับไปอยู่ในกรอบข้อตกลงที่โอเปกและประเทศพันธมิตรเห็นพ้องกันในช่วงต้นปี หลังความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ตลาดขาดความมั่นใจจนกว่าจะมีข้อตกลงที่แน่ชัด
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน เดือน พ.ค. 63 รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 63 รายงานอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 63 การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 พ.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ซึ่งตกลงกันที่จะลดการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 เพื่อจัดการกับปริมาณน้ำมันส่วนเกินที่เกิดจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นอีกครั้งจากความไม่สงบครั้งใหม่ในฮ่องกง