ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอนำส่งบทวิเคราะห์ เรื่อง COVID-19 ดันความต้องการถุงมือทางการแพทย์ของโลกเพิ่มขึ้น

106
Surgeon, surgical doctor, anesthetist or anesthesiologist holding patient’s hand for health care trust and support in professional surgical operation, medical anesthetic safety, healthcare concept

มิติหุ้น – ถุงมือยางเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย โดยสร้างรายได้เข้าประเทศถึงราว 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี จากความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากจากการเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานของโลก สะท้อนโอกาสของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทยในการเร่งส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดโลก โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางลำดับที่ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย ทั้งนี้ในปี 2020 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างไปทั่วโลก ถือเป็นช่วงเวลาทองของไทยในการส่งออกถุงมือยาง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 ปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทยพุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 7,321 ล้านคู่ ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งผลักดันให้มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2019

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์ของโลกในปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี 2010-2019 การขยายตัวของความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก รวมถึงถุงมือยางยังเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานของโลก ทั้งการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการใช้ในภาคสาธารณสุข ซึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ

ทั้งนี้ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซีย ได้คาดการณ์ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2020 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไว้ว่าจะอยู่ที่ 300,000 ล้านชิ้น[1] และในเดือนมีนาคม 2020 ภายหลังจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลก MARGMA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2020 ขึ้นมาอยู่ที่ 345,000 ล้านชิ้น

อย่างไรก็ดี จากจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงเพิ่มสูงมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อและแพร่กระจายในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้ EIC มองว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2020 น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 360,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 20% จากประมาณการเดิมในสถานการณ์ปกติ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการถุงมือทางการแพทย์ที่พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 60,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 57% จากสถานการณ์ปกติ

 EIC มองว่า มาเลเซียและไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกถุงมือทางการแพทย์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมาเลเซียมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากกว่าไทย เนื่องจากมีศักยภาพ
ในการผลิตเพื่อป้อนตลาดโลกได้มากกว่า
ปัจจุบัน มาเลเซียและไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดปริมาณการส่งออกถุงมือยางที่ 62% และ 13% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งโลก ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น จีน อินโดนีเซีย เบลเยียม เวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณการส่งออกถุงมือยางรวมกันคิดเป็น 25% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งโลก ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการผลิตถุงมือยาง ทั้งในมาเลเซียและไทย ต่างเร่งเพิ่มกำลังการผลิต
ถุงมือยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถุงมือทางการแพทย์ เพื่อส่งออกรองรับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

จากการที่มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีกำลังการผลิตถุงมือทางการแพทย์อยู่ที่ประมาณ 125,000 ล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2019 มีการผลิตจริงอยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นการใช้กำลังการผลิตเพียง 50% สะท้อนถึงศักยภาพในการผลิตเพิ่มได้อีกมาก ขณะที่กำลังการผลิตถุงมือทางการแพทย์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2019 มีการผลิตจริงอยู่ที่ประมาณ 21,371 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 85% ของกำลังการผลิตรวม จึงกล่าวได้ว่า หากในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้ง 2 ประเทศเร่งผลิตถุงมือทางการแพทย์เต็มกำลังการผลิตแล้ว อุตสาหกรรมถุงมือทางการแพทย์ของมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากกว่าไทย เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตถุงมือทางการแพทย์เพื่อป้อนตลาดโลกได้มากกว่า โดยสามารถตอบสนองความต้องการใช้ถุงมือทางการแพทย์ของโลกที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมดจากกำลังการผลิตที่เหลืออยู่

นอกจากการผลิตและส่งออกถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นแล้ว ไทยยังได้รับอานิสงส์ทางอ้อมเพิ่มเติมจากการส่งออกน้ำยางข้นให้คู่ค้าหลักอย่างมาเลเซีย เพื่อนำไปผลิตเป็นถุงมือทางการแพทย์ส่งออกต่อไป ทั้งนี้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตถุงมือยาง ทั้งถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือสำหรับงานอุตสาหกรรม และถุงมือสำหรับครัวเรือน โดยไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณผลผลิตน้ำยางข้นสูงถึงประมาณ 1.2-1.4 ล้านตัน/ปี และยังเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีส่วนแบ่งตลาดปริมาณการส่งออกน้ำยางข้นที่ 76% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งโลก ซึ่งในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกไปยังมาเลเซีย แม้ว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศที่มีปริมาณผลผลิตยางพารามาก แต่ปริมาณผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในรูปยางก้อนถ้วย
ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้ำยางสดเพื่อใช้แปรรูปเป็นน้ำยางข้นของมาเลเซียยังมีน้อย เนื่องจากมาเลเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ซึ่งเป็นสินค้าปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาในระดับต่ำ โดยมาเลเซียหันมานำเข้าน้ำยางข้น ซึ่งเป็นสินค้ากลางน้ำจากไทยเป็นหลัก แทนการผลิตน้ำยางข้นใช้เอง

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกน้ำยางข้นไปมาเลเซียเพิ่มขึ้น
โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 มูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นจากไทยไปมาเลเซียอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 เนื่องจากมาเลเซียมีความต้องการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยมากขึ้น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ
ในการผลิตถุงมือยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถุงมือทางการแพทย์ ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวช่วยหนุนให้ราคาส่งออกน้ำยางข้นจากไทยไปมาเลเซียในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 แตะระดับ 1,002 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 โดย EIC คาดว่า มูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นจากไทยไปมาเลเซียในช่วงที่เหลือของปี 2020 น่าจะยังคงขยายตัวอย่างโดดเด่น ทั้งนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงแพร่กระจายในวงกว้างทั่วโลก จะส่งผลให้มาเลเซียยังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำยางข้นของไทยนั้น เป็นการส่งออกสินค้ากลางน้ำ ซึ่งยังไม่ถูกพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากนัก อีกทั้งราคาน้ำยางข้นยังเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลกในระดับสูง โดยมูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นของไทยล่าสุดในปี 2019 อยู่ที่ 1,122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว 15% ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2018 ที่หดตัว 11% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำยางข้นที่ตกต่ำลงตามทิศทางราคายางพาราโลก ขณะที่มาเลเซียนำน้ำยางข้นที่นำเข้าจากไทยไปผลิตและส่งออกถุงมือยางธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และมีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาในระดับต่ำ โดยที่ผ่านมาไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติได้ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ขณะที่สินค้าถุงมือยางธรรมชาติสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้มาเลเซียได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี นอกจากนี้ มาเลเซียยังนำน้ำยางข้นที่นำเข้าจากไทยไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้เพื่อการอนามัยและเภสัชกรรม ไปจนถึงสินค้าอุปโภคอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัย ยางยืด กาว เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกอีกมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องสูญเสียไปจากการที่ไทยไม่สามารถแปรรูปน้ำยางข้นไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มที่

EIC แนะภาครัฐเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับพัฒนาคุณสมบัติของถุงมือยางให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานที่มีความหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ปัจจุบัน อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 21 ราย ทั้งนี้ EIC มองว่า นอกจากการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางแล้ว ภาครัฐยังจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ไทยสามารถผลิตถุงมือยางได้ในปริมาณที่มากขึ้นและคุณภาพดีขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณสมบัติของถุงมือยางให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยางน้ำหนักเบา ถุงมือยางที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถุงมือที่ลดความอับชื้นระหว่างสวมใส่ เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกได้มากขึ้น

ทั้งนี้รากฐานสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ การส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยรัฐบาลมาเลเซียกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับรายได้ให้ประชากรในประเทศ ผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมการลงทุน โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในกิจการได้ 100% และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งช่วยหนุนให้มูลค่าการลงทุน
ในอุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซียเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมาเลเซียผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยางครอบคลุมการใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้งถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือสำหรับงานอุตสาหกรรม และถุงมือสำหรับครัวเรือน โดยมีการใช้วัตถุดิบทั้งจากยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องจักรผลิตถุงมือยางในมาเลเซียยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าไทยถึงเกือบ 3 เท่าตัว โดยสามารถผลิตถุงมือยางได้ถึง 20 ล้านชิ้น/เครื่อง/เดือน ขณะที่เครื่องจักรผลิตถุงมือยางในไทยสามารถผลิตถุงมือยางได้เพียง 7 ล้านชิ้น/เครื่อง/เดือน[2] ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพทางการแข่งขัน
และความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่กำลังขยายตัวได้ดีกว่าของอุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซีย

EIC มองว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับต้นน้ำอย่างผู้ผลิตน้ำยางข้นไทย สามารถยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำอย่างถุงมือยางได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย
มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียวที่ครองส่วนแบ่งกำลังการผลิตถุงมือยางถึง 80% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ ซึ่งแตกต่างจากมาเลเซียที่ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 4 ราย ได้แก่ Top Glove, Hartalega, Supermax และ Kossan ซึ่งครองส่วนแบ่งกำลังการผลิตถุงมือยางรวมกันประมาณ 68% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 32% ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงโครงสร้างผู้เล่นในอุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซียที่ค่อนข้างกระจายตัวได้ดีกว่า

ทั้งนี้ EIC มองว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดการผลิตถุงมือยาง จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวมของประเทศได้มากขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้แก่ ผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ซึ่งเป็นผู้แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตถุงมือยางอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน มีผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้นในไทยจำนวน 56 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการไทย 50 ราย และผู้ประกอบการสัญชาติมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ รวมกันอีก 6 ราย โดยหากผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้นไทยได้รับการส่งเสริมให้สามารถยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางได้ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกถุงมือยางของไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นกว่าการส่งออกน้ำยางข้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีและประสิทธิภาพเครื่องจักรผลิตถุงมือยางของไทยที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาเลเซีย ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย ส่งผลให้ภาครัฐอาจส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่กันไป
เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทยมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและเครื่องจักรผลิตถุงมือยางในไทยให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทย อาจพิจารณาขยายตลาดส่งออกถุงมือยางไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเดียวกันกับคู่แข่งหลักอย่างมาเลเซีย  ปัจจุบันการส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียและไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก โดยมาเลเซียและไทยมีสัดส่วนปริมาณการส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาประมาณ 33% และ 36% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งประเทศ ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐอเมริกาพึ่งพาการนำเข้าถุงมือยางจากมาเลเซียถึง 66% ของปริมาณการนำเข้าโดยรวมทั้งประเทศ และนำเข้าถุงมือยางจากไทยเพียง 16% ของปริมาณการนำเข้าโดยรวมทั้งประเทศ สะท้อนถึงศักยภาพการแข่งขันของมาเลเซียในตลาดสหรัฐอเมริกาที่สูงกว่าไทยมาก

EIC มองว่า ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาขยายตลาดส่งออกถุงมือยางไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกถุงมือยางไทย ได้แก่ เดนมาร์ก กรีซ และออสเตรีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อจำนวนประชากรสูง และประเทศกลุ่มดังกล่าวยังมีการกระจายการนำเข้าถุงมือยางจากประเทศต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อีกทั้งถุงมือยางจากมาเลเซียยังครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดได้ ประกอบกับการที่ประเทศเหล่านี้ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ทำให้มีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรโดยรวมทั้งประเทศสูง ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการเข้ารับบริการทางการแพทย์และการใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรในประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงมากนัก ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณาขยายตลาดส่งออกถุงมือยางไปยังประเทศที่มีฐานประชากรจำนวนมาก
แต่ยังมีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อจำนวนประชากรต่ำควบคู่กันไป โดยฟิลิปปินส์ก็เป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีประชากรมากถึง 110 ล้านคน แต่มีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อจำนวนประชากรเพียง 10 ชิ้น/คน/ปีเท่านั้น โดยความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการใช้ถุงมือยางภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หากไทยสามารถผลักดันให้มีการผลิตและส่งออกถุงมือยางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกได้มากขึ้น และหลังจากที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 บรรเทาลงแล้ว  ไทยยังคงสามารถรักษาขีดความสามารถในการส่งออกถุงมือยางได้ในระยะต่อไป ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าต้นน้ำอย่างน้ำยางสด และสินค้ากลางน้ำอย่างน้ำยางข้นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ชาวสวนยางพารา
และช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคายางพาราจากการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Commodity ได้

www.mitihoon.com