ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงมีอยู่

97

 

มิติหุ้น-ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 พ.ค.) ตลาดหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มทยอยผ่อยคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown) และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสโควิด-19 หลังบริษัทโนวาแวกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทได้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกเฟสแรกในการใช้วัคซีน NVX-CoV2373 เพื่อต้านไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถทราบผลเบื้องต้นในเดือนก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่เพิ่มขึ้น ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นโลกในระหว่างสัปดาห์ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับเพิ่มขึ้น

โดยได้รับแรงหนุน หลังคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก นักลงทุนคาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัว หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐฯ เพิ่มอีก 117 ล้านล้านเยน เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ตลาดหุ้นจีน และฮ่องกง ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยได้รับแรงกดดัน หลังที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน มีมติให้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง ด้านราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังว่า ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการ lockdown การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ และการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงมีอยู่ หลังจากที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) มีมติเห็นชอบให้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศตอบโต้ด้วยการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง รวมถึงความผันผวนจากเหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจาก ความคาดหวังที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown โดยกรุงนิวยอร์ก ซิตี้ ของสหรัฐฯ จะเปิดเศรษฐกิจเฟสแรกในวันที่ 8 มิ.ย. ขณะที่อังกฤษจะเริ่มเปิดร้านค้า และศูนย์การค้า ในวันที่ 1 มิ.ย. ในส่วนของสเปน และเยอรมนีได้เตรียมผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังในการพัฒนาวัคซีน / ยาต้านไวรัสโควิด-19 รวมถึงการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มฟื้นตัว จากอุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงความคาดหวังว่า กลุ่มประเทศโอเปกและชาติพันธมิตร อาจมีการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 1-3 เดือน สำหรับตลาดหุ้นไทย อาจได้รับแรงหนุนระยะสั้นจาก ความคาดหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการสกัดกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้

ขณะที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งนี้ วุฒิสภาจะพิจารณาพ.ร.ก. ดังกล่าว ในวันที่ 1-2 มิ.ย. โดยหากวุฒิสภามีมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • ความคืบหน้าการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในประเทศต่างๆ ตลอดจนความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง
  • การตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยความตึงเครียดอาจมากขึ้น หากมาตรการตอบโต้ของทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงการค้าที่ได้ทำไว้ร่วมกัน
  • เหตุการณ์ประท้วงและการก่อการจราจลในสหรัฐฯ โดยหลายเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ได้ประกาศเคอร์ฟิว หลังมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวสี
  • การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) (4 มิ.ย.) คาดว่า ECB มีแนวโน้มคงดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ECB มีแนวโน้มขยายวงเงินมาตรการเข้าซื้อสิทรัพย์ (QE) โดยตลาดคาดว่า ECB มีแนวโน้มเพิ่มวงเงิน QE อีก 500 พันล้านยูโร และปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลง
  • การประชุมของกลุ่มประเทศโอเปกและชาติพันธมิตร (4 มิ.ย.) โดยอาจมีการหารือในประเด็นการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 1-3 เดือน

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Caixin) ของจีน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย, การจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าในการผ่อนคลายมาตรการ lockdown, ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน, เหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯ, การประชุม ECB และการประชุมของกลุ่มประเทศโอเปกและชาติพันธมิตร

วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

www.mitihoon.com