มิติหุ้น-นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมิถุนายน 2563 ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสสอง รวมถึงการคลี่คลายของสถานการณ์โรคระบาดและการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลหาก COVID-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง”
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ระดับ 93
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
- ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับตัวลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ทุกกลุ่มปรับตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ยกเว้นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซา
ในช่วงเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน จากปัจจัยในประเทศที่ครม. เห็นชอบกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของไวรัสคลี่คลาย วงเงิน 400,000 ล้านบาท และปัจจัยนอกประเทศจากการประกาศมาตรการ QE ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้า Emerging market มากขึ้น โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,257 – 1,299 จุด จากนั้นดัชนีปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลาย Lockdown ซึ่งช่วยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 SET index ปิดที่ 1,342.85
ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสสอง รวมถึงการคลี่คลายของสถานการณ์โรคระบาดและการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงความกังวลหาก COVID-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ การควบคุมการระบาดของโควิดในช่วงการผ่อนคลายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า ผลของมาตรการการเงินการคลัง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน”
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิถุนายน 2563
ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุม เดือนมิถุนายนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 11 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจาก กนง. เพิ่งปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อนและน่าจะมีการประเมินสภาพเศรษฐกิจหลังการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนอาจปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากการออกพันธบัตรของภาครัฐเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนพฤษภาคมนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43 สูงขึ้นจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนมิถุนายนนี้ กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 จากปัจจัยหลักคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มติดลบ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ การไหลออกสุทธิของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. สิงหาคม 2563 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกกล้เคียงระดับ 0.76% และ 1.17% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (21 พ.ค. 63) โดยปัจจัยที่มีผลได้แก่ อุปสงค์ในตลาดตราสารหนี้เแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว และอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
www.mitihoon.com