สสส. จับมือ มหิดล เผยผู้ปกครองกว่า 90% ต้องปรับวิถีชีวิตเพื่​อรับบทบาท “ครูเฉพาะกิจ

189

มิติหุ้น – ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองในวันที่โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม และบุตรหลานต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โดยพบว่า 91.3 % ต้องปรับตัวอย่างมากในการรับบทบาท “ครูเฉพาะกิจ”  ซึ่งเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)  ของพ่อแม่ผู้ปกครอง  แนะ 3 ฝ่าย “ภาครัฐสถานศึกษาครอบครัว” ผนึกกำลังเตรียมความพร้อมส่งเสริมการเรียนรู้จากที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศเลื่อนการเปิดเรียนจากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยในระหว่างที่ขยายเวลาการเปิดเรียนนั้น ให้นักเรียนใช้ระบบการเรียนทางไกล รวมถึงแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะสามารถปฏิบัติได้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด–19 ส่งผลให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เดินหน้าโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย พร้อมสำรวจความคิดเห็นพ่อแม่ผู้ปกครอง จำนวน 1,583 ครอบครัว ในประเด็น “ความกังวลใจหรือความยากลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานตนเองในช่วงขยายเวลาเปิดเทอม” ณ เดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 91.3% ต้องมีการปรับตัวในการรับหน้าที่ “ครูเฉพาะกิจ” หลายครอบครัวมีความไม่มั่นใจที่ในการจัดสรรเวลาสำหรับการดูแลบุตรหลาน รวมถึงในประเด็นอื่นๆ ที่หลากหลายมากกว่าเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้ในการเรียน โดย 5 อันดับความวิตกกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ประกอบด้วย 1.กังวลว่าบุตรหลานจะไม่ได้เรียนรู้อย่างเพียงพอในเนื้อหาที่จำเป็น ร้อยละ 56.6 2. กังวลเกี่ยวกับการที่บุตรหลานมีพฤติกรรมการเล่นเกม โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มากขึ้นกว่าปกติ ร้อยละ 52.0 3. กังวลกับค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.5 4. ไม่มีเวลาสำหรับการร่วมเล่นหรือการออกกำลังกายกับบุตรหลาน ร้อยละ 30.6 และ 5. กลัวว่าบุตรหลานจะติดเชื้อโควิด–19  ร้อยละ 22.6 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ความกังวลในเรื่องต่างๆ ข้างต้น มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย
 
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ในช่วงเวลาที่เด็กต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านนี้ เพราะนอกจากเรื่องการจัดเตรียมระบบการเรียนการสอนทางไกลที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะโภชนาการของเด็กที่อาจไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่มีความขาดแคลนและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 พฤติกรรมและผลกระทบทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงที่มากเกินความจำเป็น ตลอดจนการหนุนเสริมทักษะและความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อสามารถรับมือกับบทบาทหน้าที่ใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นายณรากร วงษ์สิงห์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยพฤติกรรมและปรากฎการณ์ทางสังคม ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาครัฐและหน่วยงานด้านการศึกษา ควรสนับสนุนการบริหารจัดการและขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศในมิติหลัก ดังนี้ 1. เสริมสร้างทักษะของผู้ปกครองเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้าน 2.จัดเตรียมเครื่องมือการเรียนรู้ ชุดความรู้ และสื่อสำหรับผู้ปกครอง 3.เตรียมความพร้อมระบบบริหารจัดการและบุคลากรทางการศึกษา และ 4.ขยายความครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ ในขณะที่สถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ควรจัดทำเครื่องมือการเรียนรู้ ชุดความรู้ และสื่อสำหรับผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้าน รวมถึงตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้ปกครองสามารถนำไปทำตามได้ง่ายและเหมาะสม โดยอาจใช้การเล่นเป็นสิ่งกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น วิ่งเล่นพร้อมกับการฝึกคิดเลข ทำกายบริหารพร้อมกับการท่องคำศัพท์ และฝึกการทรงตัวพร้อมกับการอ่านหนังสือหรือคิดเลขในใจ เป็นต้น
 
“หนึ่งในชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองคือการรับหน้าที่รูเฉพาะกิจในยามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ รวมถึงในวันที่รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมมีการปรับเปลี่ยนไป ดังนั้น หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อมโดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้จากสถานการณ์โควิด–19 ครั้งนี้เป็นบทเรียนก็จะช่วยให้การทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้านเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายณรากร กล่าว
 
ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ควรติดตามข่าวสารและติดต่อสื่อสารกับโรงเรียนของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ คือ 1.จัดตารางการเรียนรู้และการทำกิจกรรมในแต่ละวันบุตรหลานให้เหมาะสมตามช่วงวัย 2. กระตุ้นให้บุตรหลานมีกิจกรรมทางกาย/เล่น/ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าเด็กอายุ  5–17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน  3. จัดพื้นที่การเรียนรู้ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียน และ 4. ควบคุมเวลาการใช้หน้าจอและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิงของบุตรหลานไม่ให้เกินความจำเป็น เช่น เด็กอายุ 6–17 ปี ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง และไม่รบกวนกิจกรรมหลัก เช่น การนอนหลับ การมีกิจกรรมทางกาย การรับประทานอาหาร การเรียนหนังสือ การทำการบ้าน การช่วยเหลืองานบ้าน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้การปรับตัวในบทบาทใหม่นี้ทำได้ดียิ่งขึ้น
www.mitihoon.com