มิติหุ้น-บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 34 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อในช่วงทำ Bookbuilding อย่างคึกคัก มากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ในวันที่ 23 – 25 มิถุนายนนี้ พร้อมวางแผนขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2575 จาก ณ 31 มีนาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 8 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ STGT ในครั้งนี้
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้ร่วมกันกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 34 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันคุณภาพเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและแผนงานขยายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่มีความชัดเจน จึงเชื่อว่าราคาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับพื้นฐานและศักยภาพธุรกิจของ STGT โดยกำหนดเสนอขายหุ้น IPO แก่นักลงทุนในวันที่ 23-25 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฏาคมนี้
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ในการเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เนื่องจาก STGT มีพื้นฐานธุรกิจที่ดีและมีผลิตภัณฑ์ถุงมือยางซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 438,780,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้
การเสนอขายครั้งนี้ แบ่งเป็น 1. เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 432,780,000 หุ้น 2. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STGT) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 2,000,000 หุ้น 3. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 10,000,000 หุ้น ในจำนวนนี้จะเสนอขาย ณ วัน IPO จำนวนไม่เกิน 4,000,000 หุ้น และอีก 6,000,000 หุ้น จะเสนอขายในปีที่ 1 – 2 ภายหลังวัน IPO และ 4. หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2-3 (ถ้ามี) จะเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบันและผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ โดย STGT จะนำเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่
อันดับ 3 ของโลก โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง และมีแผนงานขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติควบคู่กับการรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบ รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ได้วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2567 ทั้งการขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง รวมถึงก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดสงขลาและชุมพร จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 70,000 ล้านชิ้นภายในปี 2571 รวมถึงในระยะยาวจะขยายเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นในปี 2575
ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งกำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย ดังนั้นอัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย STGT จะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ใช้เพาะปลูกยางพาราและโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน
ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาเติบโตมาตลอด โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) ประเมินความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นับจากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้น ซึ่งมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของคนทั่วโลก นอกจากนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ห้องแล็บและตรวจรักษาโรค
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ อาทิ ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบละตินอเมริกา ฯลฯ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
www.mitihoon.com