‘อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น’ ลุยเดินหน้า สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

558

มิติหุ้น – บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด นำโดย นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ในการพัฒนา “โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก”

โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อพัฒนาไปสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง และ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์ ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี

ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) ผู้ที่ได้รับสัมปทาน 50 ปี จากภาครัฐ และได้ลงนามสัญญาร่วมทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาโดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญา โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) เกิดจากความร่วมมือจาก 3 บริษัทเอกชนใหญ่ ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานจัดเตรียม แผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งยื่นซองเอกสารแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก รวมเวลาดำเนินงาน เจรจาเพียง 47 วัน เป็นระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เมื่อเทียบกับขนาดโครงการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่าง ๆ ที่รัฐบาลเคยดำเนินการมา แสดงถึงความพร้อมทางการเงินที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญ และมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะสามารถดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการร่วมลงทุนในโครงการนี้ว่า “ผมมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงสุดที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศและ เป็นหนึ่งใน ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล ที่ต้องการให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินของอีอีซี และเป็นศูนย์กลางของเมืองการบินภาคตะวันออก บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี และเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารสนามบินในประเทศ 3 แห่ง(สมุย สุโขทัย ตราด)จึงมีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ และพันธมิตร จะสามารถพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้เป็นอย่างมาก จากการผนึกกำลังของภาคเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศไทยทั้งสามกิจการ กลุ่มบริษัทบีทีเอสจะใช้ประสบการณ์ที่มีมากว่า 20 ปี ต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ด้านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจในด้านต่างๆ เพื่อจะมาเป็นแรงผลักดัน ให้โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกประสบความสำเร็จ กลุ่มบริษัทบีทีเอสจึงมีความมั่นใจ 100% ที่จะเดินหน้าลงทุนที่จะพัฒนาระบบภายในสนามบินให้มีความทันสมัยมากที่สุด

ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover ) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเมืองการบินให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็น Aviation Hub ที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก สำหรับโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการได้มากมายจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเรามีความภาคภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการแห่งประวัติศาสตร์การก่อสร้างของไทย ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มาสู่พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน

บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเมกะโปรเจคมากว่า 58 ปี โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือมาตรฐานของผลงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ ตรงเวลา โดยคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยเป็นสำคัญ การบริหารงานโครงการฯ โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ทำให้ซิโน-ไทย มีความมั่นใจในความแข็งแกร่งของพันธมิตร อันได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบิน มากว่า 50 ปี มีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องบริหารสายการบิน รวมถึงการบริหารสนามบิน และบริษัท บีทีเอส โฮล์ดิ้ง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้าน โลจิสติก ระบบขนส่งทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทั้ง 3 องค์กรจับมือร่วมกันบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทำให้มั่นใจถึงความสำเร็จในอนาคต ขอให้ความมั่นใจว่า ซิโน-ไทย บริษัทก่อสร้างของคนไทย จะทุ่มเทกำลังความรู้ ความสามารถ เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมเมืองการบินที่ยิ่งใหญ่อันทรงคุณค่า สง่างาม ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่ภาคภูมิใจต่อคนไทยทั้งประเทศ

รายละเอียดโครงการ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
มีองค์ประกอบหลักที่ทางรัฐดูแล ประกอบด้วย ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอด อากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Complex) ระยะแรก 500 ไร่ รวมทั้งงานสนับสนุนอื่นๆ บนพื้นที่ ขนาด 1,400 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน และจะมีการก่อสร้าง Air Traffic Control Tower หรืออาคารหอบังคับการบิน โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

องค์ประกอบหลักที่ทางภาคเอกชนดูแล ประกอบด้วย ส่วนของอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automate People Mover, APM) คลังสินค้า , Cargo Village และ Free Trade Zone ที่มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center, GTC) มีขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เพื่อให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ พื้นที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง นอกจากองค์ประกอบหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็น Aviation Hub ของโครงการฯ คือ Commercial Gateway ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน

บริษัทฯ ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

www.mitihoon.com