ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดกังวลการแพร่ระบาดระลอกสอง ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันที่ขยับสูงขึ้น

64

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 37- 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 มิ.ย. – 3 ก.ค.63)

ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะทวีปอเมริกาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายประเทศคลายมาตรการล็อคดาวน์หนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น  ประกอบกับความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส โดยเฉพาะอิรักและคาซัคสถานที่จะลดกำลังจากการผลิตตามข้อตกลงส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่สมดุลมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกา โดยยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดมากกว่า 9 ล้านคน และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นสูงสุดแตะระดับ 183,000 คน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากทวีปอเมริกากว่า 116,000 คน นอกจากนั้นยังคงมีความกังวลการแพร่ระบาดระลอกสองในเกาหลีและจีน เนื่องจากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้น หลังจากผ่อนคลายล็อคดาวน์
  • ความต้องการใช้น้ำมันในจีนเริ่มกลับมาหลังสถานการณ์ล็อคดาวน์คลี่คลาย โดยในเดือน พ.ค.63 โรงกลั่นในประเทศจีนนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณสูงที่ระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.63 ซึ่งโดยมากเป็นน้ำมันดิบที่มีการจัดซื้อตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.63 ที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำมันดิบในจีนยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่ง Rystad Energy คาดการณ์ว่าหากเกิดระบาดระลอกสอง ความต้องการน้ำมันดิบในจีนอาจปรับลดลงได้อีกครั้งประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/63
  • ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตโดยรวมของกลุ่มโอเปกพลัสในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ร้อยละ 87 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยกลุ่มโอเปกพลัสให้คำมั่นและเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลง โดยเฉพาะอิรักและคาซัดสถานที่ยืนยันว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของทั้งสองประเทศในเดือน พ.ค.63 คือที่ระดับร้อยละ 46 และ 56 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุปทานน้ำมันดิบในตลาดจะลดลงอีกในเดือน ก.ค.63
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ(EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.3 ล้านบาร์เรล นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ 3 ต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง Gulf Coast แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 540 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิ.ย. 63 ยังคงปรับลดลง 13 แท่น สู่ ระดับ 266 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นการปรับลด 7 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • IHS Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน มิ.ย.63 ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 8 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 เดือนจากระดับ 37.0 ในเดือน พ.ค.63 แสดงถึงภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ดัชนีดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดอยู่
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 63 เป็น -4.9% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.63 ที่ -3.0% หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกในปี 64 ลงจากขยายตัว 8% เป็น 5.4% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีของอังกฤษไตรมาส 1/63 ดัชนีผู้บริโภคกลุ่มยูโรโซนเดือนมิ.ย63 Caixin PMI จีนในเดือนมิ.ย.63 บันทึกการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ตัวเลขการว่างงานสหรัฐฯเดือนมิ.ย.63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-26 มิ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 38.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามอุปทานจากสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเนื่องจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 63