IBM ผนึกความร่วมมือ วิศวะมหิดล นำเทคโนโลยี HPC และ AI ขับเคลื่อนงานวิจัย-พัฒนาอุตสาหกรรมและกำลังคนในยุคนิวนอร์มอล

163

มิติหุ้น – นางสิริกร บุญเสริมสุวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจดิจิทัลเซลและคอมเมอร์เชียล บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้นับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับไอบีเอ็มและมหาวิทยาลัยมหิดลในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยไอบีเอ็มได้สนับสนุนฮาร์ดแวร์ IBM Power Systems หรือ HPC เทคโนโลยีประมวลผลสมรรถนะสูง (High-Performance Computing ) ซึ่งอยู่เบื้องหลังซูเปอร์คอมพิวเตอร์ มีความปลอดภัยได้รับมาตรฐานโลก มีการออกแบบเพื่อรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสนับสนุนระบบ IBM Visual Insights แพลตฟอร์ม AI ที่ก้าวล้ำช่วยให้สามารถใช้ AI ในการวิเคราะห์ไฟล์ภาพหรือวิดีโอ (AI Vision) ได้ในเวลาอันรวดเร็ว  ทั้งนี้ดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ได้กระตุ้นให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆของไทย ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะที่สำคัญให้แก่บุคลากรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สถานการณ์การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน และองค์กรที่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก้าวล้ำและความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรด้านวิชาการ จะช่วยให้เราสามารถสร้างทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เราเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในยุคนิวนอร์มัล”

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จากวิสัยทัศน์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มุ่งสู่การก้าวเป็น วิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก และในปี 2563 ยังมีแผนพัฒนาการศึกษา New Normal Engineering และดำเนินงานวิจัยพัฒนาระดับโลกมารองรับวิถีใหม่ สร้างเสริมการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศให้สามารถเพิ่มผลิตภาพในองค์กรและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์โลกในอนาคตได้ ทั้งนี้ COVID-19 ดิสรัพชั่น เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลเทคโนโลยีเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในการก้าวสู่ Industry 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น การพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมทั้งการ Reskill – Upskill เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของคนไทยและการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาทักษะเดิมด้วยองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นให้รองรับกับงานใหม่หรืองานในอนาคตมากขึ้น ส่วน จะช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ทักษะทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการทำงานกับข้อมูลมหาศาลหรือ Big Data เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อตอบรับงานวิจัยในวิถีใหม่นิวนอร์มอล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงรุก 3 ด้าน ได้แก่ 1. งานวิจัยอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เสริมสร้างประเทศไทยเป็น Health& Wellness Hub ที่ก้าวหน้ายั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำปัญญาประดิษฐ์ AI Vision มาเสริมศักยภาพให้งานวิจัย อาทิเช่น การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ (Medical Imaging) เวชสารสนเทศ (Medical Informatics) เป็นต้น โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือของมหาวิทยาลัยมหิดล 2. การพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งจะมุ่งเน้นทำหลักสูตร Reskill / Upskill เพื่อพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับ Digital Transformation ของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค New Normal คาดว่าจะเริ่มความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และอื่นๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 3. งานวิจัยพัฒนาความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยนำแพลตฟอร์ม AI มาสร้างโมเดล Machine Learning และ Deep Learning เพื่อการวิเคราะห์และติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร รวมถึงการตรวจจับชิ้นส่วนที่มีตำหนิในโรงงานผลิต”

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) พบว่าในอีกสองปีข้างหน้า บุคลากรมากถึง 120 ล้านคนในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 12 ประเทศ อาจจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ และพัฒนาทักษะเดิมเพิ่มเติม อันเป็นผลมาจากการเข้ามามีบทบาทของ AI และ Automation อัจฉริยะ นอกจากนี้ มีซีอีโอของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในการสำรวจเพียงร้อยละ 41 เท่านั้นที่ระบุว่าบริษัทของตนมีบุคลากร ทักษะ และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท โดยการศึกษาวิจัยที่ได้มีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารทั่วโลกกว่า 5,670 คนใน 48 ประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการปัญหาด้านความต้องการแรงงานในทุกระดับชั้นขององค์กร

ในฐานะองค์กรด้านเทคโนโลยีระดับโลก ทางไอบีเอ็มมองว่าตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริการแบบ Value-Added มากขึ้น และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในระยะยาวของไอบีเอ็ม ในแง่การช่วยสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานจริงในประเทศไทย

www.mitihoon.com