มิติหุ้น-นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ยังคงเร่งเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID–19 ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการรักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม ขณะที่ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนในระดับสูง และเกินกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของ ธปท.ที่ 11.0% (ระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ 8.5% และ Conservation Buffer ที่ 2.5%) และสูงกว่ามาตรฐานสากลของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ที่ 10.5% โดย ณ เดือน เมษายน 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท และ 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.84% และ 18.90% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ ซึ่งสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าของสถาบันการเงินนั้น ล่าสุด โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน (Soft Loans) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว เป็นวงเงินรวม 90,499 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs 56,312 ราย (ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2563) ในจำนวนนี้กว่า 76.4% หรือ 43,030 ราย เป็น SMEs รายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่ SMEs รายกลางที่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 20-100 ล้านบาท และ SMEs ขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 100-500 ล้านบาท ได้รับซอฟต์โลนจากธปท. แล้ว จำนวน 9,825 ราย และ 3,457 ราย ตามลำดับ
ส่วนการเดินหน้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยนั้น สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าและช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยไปแล้วจำนวน 16.37 ล้านราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.84 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563) โดยในจำนวนนี้ประมาณ 92.99% หรือ 15.22 ล้านราย เป็นลูกหนี้รายย่อย ขณะที่สัดส่วนลูกหนี้ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับความช่วยเหลือ อยู่ที่ 6.98% และ 0.03% หรือ 1.14 ล้านราย และ 5,028 ราย ตามลำดับ
สมาคมธนาคารไทย หวังว่าเม็ดเงินช่วยเพิ่มสภาพคล่องผ่านโครงการซอฟต์โลน และการปล่อยสินเชื่อตามปกติของแต่ละธนาคาร ตลอดจนแนวทางการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและการปรับโครงสร้างหนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยเข้าสู่ระยะฟื้นฟู หลังสัญญาณการระบาดของโรค COVID–19 ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
www.mitihoon.com