โรงไฟฟ้าขยะสะอาด ETC เตรียมไอพีโอเข้าตลาดฯ ชูกำไรเติบโตแรง กลต.ไฟเขียวแล้ว หุ้นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมครบวงจรทั้งซัพพลายเชน ตัวแรกของตลาดหุ้น อนาคตไกล

1326

มิติหุ้น-นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ETC) กล่าวว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจหลักผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบครบวงจร คือ มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม 3 แห่งคือ ที่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร รวมกำลังการผลิต 20.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 20 ปี และ มีบริษัทย่อยเป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ คือ การออกแบบวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงไฟฟ้า และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (EPC)  ซึ่งมีเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดย ETC เป็น บริษัทในกลุ่ม เบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีโรงงานผลิตขยะอัดแท่ง (RDF) อยู่ภายในกลุ่ม ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง และข้อได้เปรียบต้นทุนเชื้อเพลิง กอรปกับ มีบริษัทฯย่อยเป็นผู้รับเหมาทั้งสร้างและบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) จึงประหยัดค่าใช้จ่ายการดูแลโรงไฟฟ้า และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนและทำให้การขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคตเป็นไปได้ง่าย และเป็นโรงไฟฟ้าขยะสะอาดที่ครบวงจร ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) อย่างแท้จริง

ETC มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 362.39  ล้านบาท และมี EBITDA 202.90 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้น จากรายได้รวม 325.24  ล้านบาท และมี EBITDA 224.40 ล้านบาท ในปี 2561 และมีกำไรสุทธิ 57.55  ล้านบาทในปี 2562 จากกำไรสุทธิ 66.96  ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งผลประกอบการปี 2561-2562 มาจากการรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ETC เพียงโรงเดียว และล่าสุดในงวดไตรมาส 1 ปี 2563   บริษัทฯ มีรายได้รวม 134.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูง 18% ซึ่งในปี 2563 นี้ ETC คาดว่าจะรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าได้เต็มปีทั้ง 16.5 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าขยะ ETC, RH และ AVA ซึ่ง โรงไฟฟ้า RH และ AVA มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาด้านปริมาณขยะของประเทศ

“ล่าสุด ETC ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (กลต.) ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยบริษัทฯมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 1,120,000,000 บาท มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,240,000,000 หุ้น ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าจะจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน (ไอพีโอ) จำนวน 600,000,000 หุ้น และมีหุ้นกรีนชูอีก 60,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของจำนวนหุ้นไอพีโอ เพือสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ในสภาวะตลาดหุ้นผันผวนในปัจจุบัน โดย ETC มีแผนจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจของ บริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ โดยการขายหุ้นไอพีโอของ ETC จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมของ BWG จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ETC จำนวน 95,802,973 หุ้น คิดเป็นสิทธิในการจองซื้อในอัตรา 40 หุ้น BWG ต่อ 1 หุ้นสามัญ ETC ซึ่งการให้สิทธิผู้ถือหุ้นครั้งนี้เป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นของ BWG และ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้หุ้น BWG อีกด้วย”

 

นางสาวปิ่นมณี เมฆมัณฑนา กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินของ ETC กล่าวว่า “ ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าหุ้นไอพีโอ ETC จะได้รับความสนใจอย่างสูง จาก ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 400  เมกะวัตต์ ในปลายปีนี้ ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2561-2580 ยังมีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่ประมูลตกค้างอีกกว่า 44 เมะวัตต์ ซึ่งต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565 จึงคาดว่าจะมีการเปิดประมูลภายในปีนี้ โดย ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะ จากบริษัทฯแม่คือ กลุ่มเบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้ง ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดี มีคณะผู้บริหารและทีมงานวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยเป็น บริษัทรับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร รวมถึงบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) ให้มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าขยะ หุ้นแรกของตลาดหุ้นไทย ที่มีอนาคตไกล”

 

ETC มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ โดยไม่จำกัดเพียงการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ปลอดภัยต่อชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยผลตอบแทนที่ดีและเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ETC มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โดยสร้างวัฒนธรรมและการพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่สร้างความมั่นคงให้องค์กรด้วยแผนงานขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการเงิน การสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้    โดยคำนึงถึงเป้าหมายการสร้างผลประกอบการที่ดีแบบยั่งยืน

 

 

 

 

 

ลักษณะธุรกิจของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ETC)

ETC ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ (“RDF”) โดยมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 3 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้งรวม 20.4 เมกะวัตต์  ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้า ETC กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.4 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 8 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 20 ปี  2. โรงไฟฟ้า RH กำลังการผลิตไฟฟ้า 7 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 5.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 20 ปี    3. โรงไฟฟ้า AVA กำลังการผลิตไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 3 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 20 ปี  โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย และมี บริษัทย่อย คือ บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ คือ การออกแบบวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงไฟฟ้า และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (EPC)  และบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) ซึ่งมีเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

โดย ETC เป็น บริษัทในกลุ่ม เบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีโรงงานผลิตขยะอัดก้อน (RDF) อยู่ภายในกลุ่ม ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง และข้อได้เปรียบต้นทุนเชื้อเพลิง

www.mitihoon.com