ค่าเงินและพลวัตความเสี่ยง Risk on Risk off

316

แรงกระแทกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ความอดทนในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนเป็นปัจจัยชี้นำ สำคัญสำหรับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอย่างแนบแน่นอีกครั้ง โดยในกราฟด้านล่าง เราใช้ตลาดหุ้นเป็นตัวแทนสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้า 6 สกุลเงินหลักแสดงถึงแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยในยามที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง

โดยเงินดอลลาร์มักอ่อนค่าลงเมื่อราคาหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แสดงว่านักลงทุนรับความเสี่ยงได้มาก (Risk On) ในทางกลับกัน ดอลลาร์ เยน หรือฟรังก์สวิส ดีดตัวแข็งค่าขึ้น กรณีกระแสข่าวเชิงลบในตลาดกระตุ้นให้นักลงทุนลดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แสดงถึงการรับความเสี่ยงได้น้อย (Risk Off) ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่ทองคำ ทั้งนี้ พบว่าในปี 2562 ค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินดอลลาร์เทียบเงินยูโร กับดัชนีหุ้น S&P 500 อยู่ในระดับต่ำ หรือแม้กระทั่งในบางช่วงเวลาขาดความสัมพันธ์ที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจัยอื่นๆ มีบทบาทสูงกว่า

แม้เราคาดว่าความสัมพันธ์ผกผันระหว่างดัชนีดอลลาร์และตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจลดระดับลงบ้างในระยะข้างหน้าเมื่อเทียบกับช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา แต่วิกฤต COVID-19 จะยังคงส่งผลให้ความเชื่อมโยงดังกล่าวดำเนินต่อไปท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และยังให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือหลากหลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจและตลาดการเงิน อีกทั้งภาวะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเคยปรับตัวโดดเด่นกว่าเศรษฐกิจแห่งอื่นๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนการแพร่ระบาดนั้นกำลังจะปิดฉากลง

ในช่วงก่อน COVID-19 ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นพร้อมไปกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความได้เปรียบให้กับเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินยูโร ขณะที่ในปัจจุบัน เงินดอลลาร์สูญเสียความได้เปรียบด้านผลตอบแทน (Yield Advantage) จากแนวนโยบายของเฟดและเงินดอลลาร์ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Play) ในกลุ่มสกุลเงินหลักอีกต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตเช่นเดียวกันว่า เงินเยนถูกลดทอนสถานะสกุลเงินที่ปลอดภัยในวิกฤตรอบนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ เพราะผู้ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังทั่วโลกออกตัวเร็วและแรงในการประคองเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ปิดเมืองทั่วโลก  (The Great Lockdown) ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง กระทบการจ้างงานในวงกว้างและอาจเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างถาวร อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า เราประเมินว่าพลวัต Risk On และ Risk Off จะยังคงมีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในบริบทของการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนตามอารมณ์ของตลาดบนพื้นฐานของการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องในระบบ

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com