ไมซ์ new normal คึกคัก

146

มิติหุ้น – นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทีเส็บดำเนินการแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 โดยมุ่งให้ความรู้และนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำธุรกิจไมซ์ให้สอดรับกับกระแสโลกยุค New Normal ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ 1.โครงการ Virtual Meeting Space (VMS) การส่งเสริมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ รวมถึงคอร์สฝึกอบรมออนไลน์ (E-learning) และ 2.โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลและนวัตกรรมไมซ์ (MICE Intelligence Center) ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ทีเส็บเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาจากการเปิดตัวโครงการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการจัดงานไมซ์ ประกอบกับแนวโน้มของโลกหลังสถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนสถานการณ์ภายในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้พัฒนาธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ และนับเป็นก้าวสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้ยืนหยัดต่อเนื่องอยู่ได้ในอนาคต”

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 หลังจากเปิดตัวโครงการ Virtual Meeting Space (VMS) ทีเส็บให้การสนับสนุนใน 3 รูปแบบ คือ การประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) การจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (Offline to Online – O2O) โดยสนับสนุนการจัดหาและบริหารจัดการแพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้จัดงานแสดงสินค้า และการสนับสนุนคอร์สฝึกอบรมออนไลน์ (E-learning) สำหรับผู้ประกอบการไมซ์

ปัจจุบัน มีงานประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ที่ขอรับการสนับสนุน 40 งาน โดยดำเนินการแล้ว 5 งาน ได้แก่ Thailand Toy Expo วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2563, งาน Maximizing MICE: Winning the Thai & International MICE Business in a Post COVID-19 World วันที่ 4 มิถุนายน 2563, งานสัมมนาออนไลน์ Post COVID-19 ชีวิตวิถีใหม่กับการจัดระเบียบและขับเคลื่อนสร้างความพร้อมกรุงเทพเเละเมืองหลักเพื่อการจัดงาน วันที่ 11 มิถุนายน 2563, งานสัมมนาออนไลน์ MICE Clinic หัวข้อ การจัดประชุมแบบ Virtual Meeting อย่างมีประสิทธิภาพและการประชุมปลอดภัยไร้โควิด-19 วันที่ 12 มิถุนายน 2563 และงาน ASEANTA Webinar 2020 “New Normal in Tourism & Creating travel bubble” วันที่ 25 มิถุนายน 2563 โดยมียอดผู้เข้าชมกว่า 80,000 ราย

การสนับสนุนคอร์สฝึกอบรมออนไลน์ (E-learning) สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อต่อยอดในการทำงาน ผ่านแพลตฟอร์ม YourNextU จากสถาบัน Southeast Asia Center หรือ SEAC ที่มุ่งเน้นการบริหารโครงการ การเพิ่มทักษะระหว่างบุคคล การเพิ่มทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การจัดการ การสื่อสาร และการใช้ดิจิทัล มีผู้ประกอบการไมซ์ได้รับการสนับสนุนและขอใช้สิทธิ์การเข้าอบรมออนไลน์ครบตามจำนวนแล้วถึง 250 ราย โดยสนับสนุนการอบรมเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 8 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม – ธันวาคม 2563 นี้

ด้านเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและนวัตกรรมไมซ์ (MICE Intelligence Center) ให้ข้อมูลและนำเสนอเนื้อหาบทความอุตสาหกรรมไมซ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในทุกระยะของการแพร่ระบาดกับผู้ประกอบการไมซ์ทุกสัปดาห์ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งมีการรวบรวมความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย การสนับสนุน และแผนงานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไมซ์ของต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน มาเก๊า และกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ ICCA, UFI, SITE, Destination International, PCMA, GBTA, PATA, UNWTO เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์มีแนวทางปรับเปลี่ยนและรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยนำเสนอเป็นรายไตรมาส อีกทั้งจัดทำ MICE Outlook นำเสนอบทความสั้นรายสัปดาห์เพื่ออัปเดตความเคลื่อนไหวของเทรนด์ไมซ์ทั่วโลก รวมถึงการจัดทำเนื้อหารูปแบบ Intelligence Talks ซึ่งเป็นคลิปวีดีโอให้ความรู้และถอดบทเรียนการทำงานของผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งในช่วงมีนาคมจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้าศึกษาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ทั้งกว่า 100,000 ราย

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาศูนย์ข้อมูลและนวัตกรรมไมซ์ ในครึ่งปีหลังเมื่อมีการผ่อนปรนการจัดงานเต็มรูปแบบ จะยังคงสานต่อโครงการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ให้เป็นเครื่องมือทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไมซ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมุ่งเดินหน้าส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ผสมผสานในการจัดงานจริง โดยเริ่มจากการจัดงานไมซ์ในประเทศ อาทิ การใช้เทคโนโลยีตรวจวัดความหนาแน่นของผู้เข้าร่วมงานในพื้นที่ต่าง ๆ ในงานประชุมหรืองานแสดงสินค้า หรือ การส่งเสริมการใช้แอพพลิเคชั่นในการจัดงาน ตั้งแต่ก่อนการจัดงาน ระหว่างงานและหลังงาน เช่น การใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือการลงทะเบียนและการนัดหมายเจรจาธุรกิจล่วงหน้า เพื่อใช้เวลาในการเข้าร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระชับและรวดเร็วขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังคงสานต่อโครงการ Thai MICE Connect หรือเว็บไซต์เครือข่ายพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการไมซ์ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวเปิดให้ผู้ประกอบการโรงแรม สถานที่จัดงาน และผู้จัดงาน สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกและให้ข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจและบริการบนเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีสถานประกอบการสมัครเป็นสมาชิกทั่วประเทศแล้วกว่า 7,600 ราย

“แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ในประเทศ ทั้งการประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า การจัดงานคอนเสิร์ตและกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินการจัดงานในรูปแบบปกติได้แล้ว แต่ทุกภาคส่วนยังคงต้องร่วมกันดำเนินการภายใต้มาตรการการจัดงานอย่างปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งสถานประกอบการ ผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งรูปแบบการจัดงานจะมีแนวโน้มการพัฒนาไปในลักษณะการจัดงานแบบไฮบริด (Hybrid) มากขึ้น นั่นคือ การผสมผสานระหว่างการจัดงานในรูปแบบปกติ และเพิ่มช่องทางออนไลน์ให้ผู้สนใจร่วมชมงานได้ เพื่อลดความหนาแน่นของผู้เข้าร่วมงาน” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com