ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัทมีกำไรสุทธิ ภายใต้มาตรฐาน TFRS9 จำนวน 1,149 ล้านบาท และงวดครึ่งปีเท่ากับ 2,790 ล้านบาท ตามลำดับ โดยระบุจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทลดลงชัดเจนเมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค.63 แต่เมื่อเริ่มผ่อนคลาย ปริมาณการใช้ผ่านบัตรก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 8.3% YoY
ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ไตรมาส 2 และครึ่งปี 63 เพิ่มขึ้นที่ 9.3% และ 10.0% YoY ตามลำดับ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ลดลงที่ 20.4% และ 12.3% YoY ตามลำดับ
สำหรับงวดครึ่งปี บริษัทมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดลงจาก 33.8% เหลือ 31% YoY เนื่องจากลดกิจกรรมทางการตลาดลง
ส่วนสินเชื่อรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3% หรือ 83,486 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 53,242 ล้านบาท และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 30,244 ล้านบาท
โดยในรอบ 5 เดือนปี 63 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทลดลงที่ 10.7% ขณะที่อุตสาหกรรมติดลบเช่นกันที่ 14.2% และหากเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงรายเดือน พบว่า อุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. และ พ.ค. มีอัตราลดลงที่ 40.1% และ 27.6%
ขณะที่ เคทีซีมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ลดลงในอัตราน้อยกว่าอุตสาหกรรม ที่ 36% และ 22.4% ตามลำดับ
โดยจะเห็นว่าอัตราลดลงมีมูลค่าน้อยลงเรื่อยๆ เห็นได้จากเดือน มิ.ย. บริษัทมีอัตราลดลงอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายของภาครัฐ ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวและกลับมาใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น เข้าสู่ระดับใกล้ปกติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อ COVID-19 อีกครั้ง อาจส่งผลต่อการจ้างงาน ความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ดังนั้นฝ่ายจัดการจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของ “สินเชื่อพี่เบิ้ม” ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิสินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่ไปกับการขยายสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีในระยะยาว
www.mitihoon.com