กรุงศรี คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.55-32.00 มองแนวโน้มยังอ่อนค่า จับตาแผนรับมือระบาดรอบสอง

59

มิติหุ้น-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.55-32.00 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.71 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องและแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ สัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.2 พันล้านบาท และ 1.8 พันล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังเพิ่มเติมทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หลังดอลลาร์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ เดือน เมื่อเทียบกับยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายเยียวยาความเสียหายจากวิกฤตไวรัสในสัปดาห์นี้ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ยังคงหารือในเรื่องมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำหรับประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 หลังยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องกองทุนฟื้นฟูมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร เนื่องจากกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยในยุโรปเหนือต้องการจำกัดความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินให้เปล่าไว้ที่ 3.5 แสนล้านยูโร อย่างไรก็ดี ตลาดมีความหวังว่าผู้นำอียูจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ข้อมูล   จีดีพีไตรมาส 2 ของจีนซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดไว้รวมถึงข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน อาจหนุนสกุลเงินที่มีความเชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มเป็นไปอย่างระมัดระวังท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ซึ่งยังคงย่ำแย่

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ในปี 2565 และต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายไว้ใช้หากสถานการณ์เลวร้ายลงจากความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ทางการจะดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไปและกำลังศึกษามาตรการ Yield Curve Control หรือมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน นอกจากนี้ ธปท.ระบุในจดหมายเปิดผนึกชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายว่านโยบายการเงินยังต้องผ่อนคลายต่อไป โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เรามองว่าเงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าในระยะนี้ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนซึ่งรวมถึงการรับมือความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบสองและความคืบหน้าในการจัดสรรทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล

www.mitihoon.com