สึนามิหนี้ครัวเรือน (ตอนที่ 2)

341

HIGHLIGHT :

  • สึนามิหนี้ครัวเรือน (ตอนที่ 2) : การเตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิหนี้ครัวเรือนของประเทศ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สรุปมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย และมุมมองคำแนะนำเพิ่มเติมจาก ดร.กฤษฎา เสกตระกูล 2 เรื่อง คือ     1. ยืดระยะเวลาผ่อนปรนหนี้ออกไป (เพิ่มเวลาแช่เย็นให้นานขึ้น)  2. สนับสนุนให้สถาบันการเงินจัดตั้ง SPV (Special Purpose Vehicle) เพื่อบริหารหนี้ส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Covid-19

บทความในตอนที่แล้ว ผมได้แสดงความห่วงใยถึงผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 ว่าจะส่งผลทำให้ขนาดของหนี้ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว และได้ทดลองคาดการณ์ Scenario ต่างๆ จากเบาไปหาหนัก เพื่อประมาณการขนาดของหนี้ครัวเรือนที่เป็นไปได้จากเหตุการณ์นี้ แม้ผมจะเรียกว่า “สึนามิหนี้ครัวเรือน” แต่ในใจตนเองก็ได้แต่ภาวนาอย่าให้เกิดขึ้นจริงเลย อยากบอกเป็นสัญญาณเตือนเพื่อให้เราเตรียมหามาตรการหยุดยั้ง หรือบรรเทาผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าปล่อยให้สึนามินี้ถล่มประเทศเราแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความน่ากลัวและความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้หลายปีก่อน เป็นภาพอุปมาอุปไมยให้เราเห็นภาพเปรียบเทียบได้จากภัยธรรมชาติ เพียงแต่สึนามิหนี้ครัวเรือนนี้เป็นภัยจากเศรษฐกิจซึ่งมีต้นตอมาจากโรคระบาด Covid-19

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศขอให้ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า และระหว่างนี้ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ประกาศดังกล่าวนี้เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่เตือนว่า คุณภาพของสินทรัพย์ที่สำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์ คือ ลูกหนี้อาจมีคุณภาพที่ด้อยลง จึงจำเป็นต้องเก็บกำไรหรือสินทรัพย์สภาพคล่องซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเงินกองทุนเอาไว้ในสภาวะแบบนี้ ตามหลักวิชาการแล้วธนาคารกลางจะมีเครื่องมือต่างๆ ไว้บริหารให้เกิดเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ก็คือหนึ่งในนั้น

อัตราส่วนอันหนึ่งที่ใช้ดูแลความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ก็คือ % เงินกองทุน / สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์รักษาฐานเงินกองทุนที่เป็นตัวเศษเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคตขนาดของสินทรัพย์เสี่ยงที่เป็นตัวส่วนมีระดับเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ได้ โดยปกติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และการซื้อหุ้นคืนนั้น ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินในตลาดทุนเพื่อใช้ดูแลมูลค่าหุ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่เหตุการณ์วิกฤติที่จะส่งผลกระทบในอนาคตเร็วๆ นี้ การรักษาฐานเงินกองทุนในอนาคตจึงถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการรักษามูลค่าหุ้น (ซึ่งสามารถมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ได้อีก) เพราะหากความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ลดลงก็จะกระทบทางลบต่อมูลค่าหุ้นของธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นอยู่ดี ดังนั้นเรื่องนี้ ในความเห็นส่วนตัวผมสนับสนุนการดำเนินการธนาคารแห่งประเทศไทยครับ

ทั้งนี้เมื่อสัญญาณบอกว่า “สึนามิอาจมาก็ได้ ควรเตรียมรับมือ” ที่ผ่านมาถ้าสรุปเร็วๆ เราทำอะไรไปบ้าง 1) แช่เย็นลูกหนี้ไว้ชั่วคราว (ด้วยมาตรการผ่อนปรน)  2) รักษาฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ แล้วเราพอจะทำอะไร หรือเตรียมพร้อมอะไรได้อีกก่อนพายุจะมา ผมขอลองเสนอเป็นแนวคิดดูนะครับ แต่ขอบอกก่อนว่าเป็นแค่แนวคิด ขอออกจากกรอบกฎหมายและกฏระเบียบเดิมชั่วคราวว่าจะทำได้หรือไม่ ไม่ได้บอกว่าให้ทำผิดกฎหมายนะครับ แค่คิดนอกกรอบเท่านั้น

1) ยืดระยะเวลาผ่อนปรนหนี้ออกไป (เพิ่มเวลาแช่เย็นให้นานขึ้น)

มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาให้มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 นั้น เป็นเรื่องที่ดีมากและถือว่าตอบสนองได้เร็ว ทันต่อเหตุการณ์ แต่หลายมาตรการในนั้น เช่น การพักชำระเงินต้นดอกเบี้ยหรือลดค่างวดการผ่อนของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้าน มีระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งนานสุดตอนนี้ เมื่อรวมตามประกาศเรื่องนี้ในระยะที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะครบ ณ 31 ธันวาคม 2563

ตามความเห็นส่วนตัวของผม ลองเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายมาตรการผ่อนปรนหนี้นี้ไปจนถึง 30 มิถุนายน 2564 เนื่องจากหลังการผ่อนคลายให้ระบบเศรษฐกิจลองกลับมาเดินได้แบบ New Normal ควรมีเวลากลับมาสำรวจกันก่อนว่า แรงงานซึ่งเป็นหนี้ครัวเรือนจะสามารถกลับเข้ามาในสภาพใดกันบ้าง เช่น บางส่วนว่างงานเต็มตัว บางส่วนกลับมาทำงานได้แต่รายได้ถูกลด บางส่วนกลับมาทำงานได้ รับรายได้ตามปกติ อีกทั้งต้องมีเวลาพอที่จะให้ผลของนโยบายและงบประมาณใหม่ที่รัฐบาลจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ผล ซึ่งมาตรการเหล่านี้ผมว่าอยู่ในวิสัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณายืดหยุ่นให้ได้ และภายใน 30 มิถุนายน 2564 เราควรสรุปสภาพของหนี้ครัวเรือนได้แล้ว ไม่ใช่เฉพาะขนาดเท่านั้น แต่ต้องแจกกลุ่มเป้าหมายด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป

2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินจัดตั้ง SPV (Special Purpose Vehicle) หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อบริหารหนี้ส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Covid-19

ผมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (ESG) อย่างหนึ่งของสถาบันการเงิน ด้วยเหตุผลที่ว่า หากพ้นระยะเวลาผ่อนปรนหนี้ ลูกหนี้รายใดที่ขาดการชำระ 3 งวดติดกัน ก็จะเข้าข่ายการเป็นหนี้ NPL ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราใช้ Framework นี้มาจับกับผลกระทบจากเหตุการณ์ Covid-19 นี้ ออกจะไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้นัก เพราะเหตุการณ์นี้เป็น “Shock” จาก “ภัยภายนอก” ไม่ได้เกิดจาก “ภัยภายใน” ซึ่งมาจากนิสัยหรือพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ไม่ดีของลูกหนี้เป็นหลัก อีกประการหนึ่งลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ในภาวะปกติที่ผ่านมา ตอนที่เขาสามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินได้ ก็คือแหล่างรายได้สำคัญของสถาบันการเงิน ถือว่าสถาบันการเงินที่ผ่านมาก็เคยได้รับประโยชน์จากพวกเขา การจะตราสัญลักษณ์เป็น “หนี้ NPL” ไปปรากฏในชีวิตเขาตลอดไป เราจะเอาแบบนี้หรือครับ

ดังนั้นหากเราจัดแบ่งกลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ออกมาได้ แทนที่เราจะเรียกเขาว่าเป็นกลุ่ม “ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL)” เราเรียกเป็นกลุ่ม “ลูกหนี้รอการฟื้นฟู (Rehabilitation Debt) ไม่รู้จะได้ไหม เราสามารถใช้ Know-how การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ว่าจะเป็นการยืด การลด ก็ทำได้เช่นกัน แม้ว่าจะทำให้สถาบันการเงินได้รายได้ลดลงและช้าลง แต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุนและขาดความสัมพันธ์กับลูกค้าไปเลย แต่กลับเป็นการช่วยรักษาฐานของลูกค้าไว้ในระยะยาว และเกิดผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า

SPV (Special Purpose Vehicle) หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ ด้านการบริหารจัดการหนี้ส่วนบุคคล (Debt Rehabilitation Management) อาจเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินใด หรืออาจเป็นบริษัทร่วมทุนของสถาบันการเงินต่างๆ ก็ได้ เพื่อร่วมกันบริหารหนี้รอการฟื้นฟู การนำพอร์ตโฟลิโอหนี้รอการฟื้นฟูออกมาจากงบการเงินของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทแม่จะทำให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่หมดความรับผิดชอบ นักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นในสถาบันการเงินจะต้องยอมรับว่า ความสำเร็จในการบริหาร SPV นี้จะส่งผลต่อมูลค่าหุ้นของสถาบันการเงินด้วยในระยะยาว ซึ่งต้องคอย ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่ต้องเข้าไปอุ้มโดยการออกพันธบัตรให้เป็นหนี้สาธารณะของประเทศเพื่อดูแลเช่นในอดีต

หากจัดการแบบนี้แล้วลูกหนี้ยังชำระไม่ได้ด้วยเหตุ “ภัยภายใน” ที่กล่าวข้างต้น คราวนี้ก็ต้องเข้าไปสู่กลไกที่มีอยู่ในการจัดการหนี้ NPL ซึ่งสถาบันการเงินมีวิธีอยู่แล้ว และยังมีบริษัทบริหารหนี้ หรือ AMC ที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วในระบบการเงิน คอยช่วยดำเนินการรับซื้อหนี้ NPL ไปบริหารต่อไป

ในช่วงเวลาที่เหลือ 1 ปี นับจากนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศของเรา ซึ่งกำลังแสวงหา “วิถีใหม่” ผมคิดว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้ ผูกโยงกับอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลัง Covid-19 ซึ่งต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งความมั่นคงของสถาบันการเงินและการเสียสละของสถาบันการเงินในการดำเนินธุรกิจแบบที่มีพอร์ตลูกหนี้ในรูปแบบใหม่ที่เดินช้าขึ้น นานขึ้น เห็นภาพวิถีใหม่ที่เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ต้องจับมือกันจูงกันไป ค่อยๆ เดินไปด้วยกัน ช้าหน่อยแต่อบอุ่น ไม่ต้องแข่งขันกับใครหรอกครับ แค่นี้ผมว่าก็มีความสุขแล้วติดตามบทความน่าสนใจเพิ่มเติมที่ “ห้องเรียนผู้ประกอบการ” www.set.or.th/enterprise

โดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูลรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มา : https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7239

www.mitihoon.com