- กำไรสุทธิ 1,385.9 ล้านบาท (+115.6% YoY หรือ 743.0 ล้านบาท)
- รายได้จากการดำเนินงาน 7,928.4 ล้านบาท (+10.5% YoY)
- อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ร้อยละ 83.7%
- เงินให้สินเชื่อ 241.3 พันล้านบาท (-0.3% YTD)
- เงินฝาก รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 265.3 พันล้านบาท (+9.9% YTD)
มิติหุ้น-นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญดังนี้
งบการเงินสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่นำมาเปรียบเทียบ กลุ่มธนาคารได้มีการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังเกี่ยวกับวิธีการบัญชีของการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9
ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,385.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 743.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 115.6 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2562 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 10.5 และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นร้อยละ 6.6 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 5.8
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดหกเดือนปี 2563 มีจำนวน 7,928.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 756.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2562 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่นจำนวน 924.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 165.9 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนจำนวน 667.8 ล้านบาท และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 58.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าชื้อเพิ่มขึ้น สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 226.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2563 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2562 เพิ่มขึ้นจำนวน 258.2 ล้านบาทหรือร้อยละ 5.8 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ Fast Forward อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 59.5 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 62.1 เป็นผลจากแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดหกเดือนปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2562อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน
วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 241.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 265.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากสิ้นปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 241.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 91.0 จากร้อยละ 100.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 13.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 เป็นผลจากปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (Stage 3) อย่างไรก็ตามธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และการติดตามหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 83.7 ลดลงจากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 99.0 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 11 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.6 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีจำนวน 51.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 19.0 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 13.5
www.mitihoon.com