มิติหุ้น – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 13.5 พันล้านบาท ลดลง 31.4% จากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นจำนวน 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
หากไม่รวมรายการพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 กำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลง 2.9% หรือจำนวน 0.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 4.3 พันล้านบาท ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 และนโยบายการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวังในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรง
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2563
- กำไรสุทธิ: จำนวน 13.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563
- เงินให้สินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 2.0% หรือจำนวน 36.9 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากมาตรการสนับสนุนเพื่อตอบสนองความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะการเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่กลุ่มลูกค้า SME ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 สินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อลูกค้า SME เพิ่มขึ้น 4.3% และ 3.3% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อลูกค้ารายย่อยปรับลดลง 0.1%
- เงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 8.4% หรือจำนวน 131.8 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สอดคล้องกับอุตสาหกรรมธนาคารทั้งระบบ
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 3.74% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เทียบกับ 3.69% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับลดลง
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: ลดลง 40.3% หรือจำนวน 10.7 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากไม่มีการบันทึกกำไรจากการลงทุนเหมือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 และการปรับลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อยที่ซบเซาตามสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 11.7% หรือจำนวน 2.1 พันล้านบาท
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ระดับ 41.4% เทียบกับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 45.4% สะท้อนการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเชิงรุกเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน
- อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio): อยู่ที่ระดับ 2.20% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
- อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: อยู่ที่ระดับ 156.2% เทียบกับ 163.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
- อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 16.61%
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะถดถอยมากที่สุดในปี 2563”
“ในฐานะธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ กรุงศรีได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ประสบปัญหาการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เงินให้สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าของกรุงศรีอยู่ที่ประมาณ 29% ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้ารายย่อย 1,792,820 ราย และลูกค้าธุรกิจ 36,490 ราย ทั้งนี้ ธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นแล้ว ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า SME กว่า 5,700 รายด้วยวงเงินสินเชื่อเพิ่มจำนวน 18,312 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารออมสิน”
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 63 นายอาคิตะกล่าวว่า “แม้ว่ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้เปิดระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยความระมัดระวัง แต่ความเปราะบางและความไม่แน่นอนยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ถูกปรับลดเป็นหดตัว 10.3% เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัว 5.1% ในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการบริโภคภายในประเทศและการลงทุน และยังกระทบต่อการส่งสินค้าและบริการไปต่างประเทศด้วย”
“เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะดูแลและบริหารจัดการในเรื่องคุณภาพของสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจทั้งในด้านความปลอดภัยและความแข็งแกร่ง ขณะที่กรุงศรีจะยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างต่อเนื่อง”
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.85
ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.70 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.51 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 271.91 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 16.61% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 11.77%
เกี่ยวกับกรุงศรี
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 75 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 683 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 643 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 40 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 33,461 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 9.4 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด) อีกด้วย
กรุงศรี มีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
เกี่ยวกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG)
มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี MUFG มีเครือข่ายสำนักงานกว่า 3,000 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานกว่า 180,000 คน MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงก์กิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ MUFG มีเป้าหมายที่จะเป็น “กลุ่มสถาบันทางการเงินที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก” ด้วยการผสานศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าโดยคำนึงถึงสังคมและการแบ่งปัน สู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MUFG กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.mufg.jp/english
www.mitihoon.com