ปักหมุด Yield Curve Control ดูแลเสถียรภาพ (24/07/63)

215

ความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ขณะที่เราคาดว่าทางการอาจหันมาใช้เครื่องมือที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนึ่งในมาตรการที่พูดถึงกันค่อนข้างมากคือ การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน หรือ Yield Curve Control (YCC) โดยในกรณีของต่างประเทศ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับของการใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายหลากหลายกระบวนท่าเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นจากกับดักเงินฝืด ไม่ว่าจะเป็น Quantitative Easing (QE) และ Quantitative and Qualitative Easing (QQE)

ขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจประกันชีวิตจากการที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวติดลบอย่างยาวนาน จนกระทั่งในเดือนกันยายน ปี 2559 บีโอเจประกาศกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ระยะ 10 ปี ให้อยู่ที่ราว 0% และมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนอยู่ใกล้เคียงระดับเป้าหมาย

แน่นอนว่าสิ่งที่หลายภาคส่วนตั้งคำถาม คือ ประสิทธิผลของ YCC นั้นเป็นอย่างไร ปรากฎว่าหลังจากบีโอเจประกาศใช้มาตรการดังกล่าวนั้น อัตราผลตอบแทนปรับตัวใกล้เคียงระดับเป้าหมายและความผันผวนลดต่ำลงเมื่อเทียบกับตลาดบอนด์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าบีโอเจจะขยับกรอบเป้าหมายให้กว้างขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2561 ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดยังคงมีเสถียรภาพสะท้อนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางซึ่งนักลงทุนเข้าใจถึงพันธะสัญญาว่าบีโอเจพร้อมควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (กราฟด้านล่าง)

อย่างไรก็ดี หากวัดความสำเร็จในแง่การกระตุ้นเงินเฟ้อ YCC ถือว่ายังห่างไกลเป้าหมายอยู่มากซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ร่วมด้วยในอีกกรณีหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมากในการบรรเทาบาดแผลทางเศรษฐกิจจากมาตรการปิดเมือง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่ากำลังศึกษาการใช้ YCC เพื่อกดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวซึ่งภาคเอกชนอ้างอิงจากพันธบัตรรัฐบาลไม่ให้สูงเกินไป อนึ่ง ในอดีตเฟดเคยใช้ YCC มาแล้วเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน หรือในกรณีของออสเตรเลียซึ่งประกาศใช้ YCC เมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวนิ่งมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย เราเชื่อว่าการควบคุมอัตราผลตอบแทนระยะยาวผ่านการซื้อพันธบัตรอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่กนง.เลือกเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและลดทอนผลกระทบการส่งผ่านต้นทุนการกู้ยืมอ้างอิงที่อาจสูงขึ้นจากมาตรการด้านการคลังเช่นกัน นอกจากนี้ อาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่แตกต่างจากไทย อาทิ สภาพคล่องการซื้อขายพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงมาก รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธนาคารกลาง

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com