มิติหุ้น – โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกก่อให้เกิดอุปสรรคมากมายต่อการดำเนินชีวิตในทุกแง่มุม ซึ่งรวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลก โดยการแพร่ระบาดของโรค การกักตัว ความวิตกกังวล และการปลีกตัวจากสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหามากมายตามมา แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่เรายังต้องเร่งสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม เราจึงต้องหาทางกลับมาทำการวิจัยทางคลินิกอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อเดินหน้าทำการศึกษาบางส่วนต่อไปด้วยความปลอดภัย
สมาคมโรคอัลไซเมอร์เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุและผู้ดูแลในบ้านพักคนชราทั่วอเมริกากำลังเผชิญวิกฤต เนื่องจากขาดความโปร่งใสและความสามารถในการเข้าถึงการทดสอบที่จำเป็นและข้อมูลที่แม่นยำ โดยจากการประเมินพบว่า ผู้สูงอายุและผู้ดูแลกว่า 59,000 คนต้องเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานดูแลผู้สูงอายุและบ้านพักคนชรา ด้วยเหตุนี้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์จึงมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญผ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้สูงอายุและผู้ดูแล
ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer’s Association International Conference® (AAIC®) 2020 บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคอัลไซเมอร์, University of Kentucky College of Medicine, Rush University Medical Center และ University of Texas Health San Antonio ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
– ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการวิจัยโรคอัลไซเมอร์
– ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อสมองและการรับรู้เท่าที่เราทราบ
– ผลกระทบอย่างรุนแรงที่มีต่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในสถานดูแลผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวจากสมาคมโรคอัลไซเมอร์
– ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในระดับสูงอันเป็นผลมาจากโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและครอบครัว
นอกจากนี้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์ได้ประกาศเปิดตัวการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ เพื่อติดตามและทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวที่มีต่อสมอง อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด-19
“สมาคมโรคอัลไซเมอร์ภูมิใจที่ได้ประกาศเปิดตัวการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ในระดับนานาชาติ เพื่อติดตามและทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีต่อสมอง รวมถึงการรับรู้ พฤติกรรม และการทำงานของสมอง” ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว “นักวิทยาศาสตร์จากกว่า 30 ประเทศต้องการมีส่วนร่วมกับการศึกษาครั้งนี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อให้ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ดำเนินต่อไป นอกจากนี้ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในการวิจัย เราจะเก็บข้อมูลและวัดผลด้วยแนวทางที่สอดคล้องกับการศึกษาที่มีอยู่แล้ว เช่น การศึกษา Framingham Heart Study รวมถึงสอดคล้องกับแพทย์ทั่วโลก ขณะเดียวกัน เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อสมองให้มากขึ้น เราจะสร้างความร่วมมือเพื่อทำการศึกษาข้ามภาคส่วนด้วย”
ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าวเสริมว่า“เท่าที่เราทราบ ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับที่ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม การไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย อายุที่เพิ่มมากขึ้น และเงื่อนไขด้านสุขภาพที่มักมาพร้อมกับภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการติดเชื้อโควิด-19”
“มีปัจจัยทางพฤติกรรม สังคม ชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมมากมายที่ส่งผลต่อสถานะสุขภาพ และปัจจัยดังต่อไปนี้จะทำให้ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รุนแรงขึ้น”
– การเข้าไม่ถึงการคมนาคมและที่พักอาศัยที่มั่นคง รวมถึงทรัพยากรที่ช่วยยกระดับสุขภาพ ซึ่งทำให้เป็นการยากที่จะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 หรือเข้ารับการรักษาเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย
– ประเภทของงานและนโยบายของที่ทำงานมีผลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยพนักงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างเมื่อหยุดงานมีแนวโน้มที่จะทำงานต่อทั้งที่มีอาการป่วย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสอื่น ๆ
– การเข้าไม่ถึงประกันสุขภาพและการรักษาในราคาที่จ่ายไหว
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม รวมถึงครอบครัวและผู้ดูแล โดยบ้านพักคนชราได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ จากการประเมินพบว่า ผู้สูงอายุและผู้ดูแลกว่า 59,000 คนต้องเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานดูแลผู้สูงอายุและบ้านพักคนชรา ด้วยเหตุนี้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายบังคับใช้นโยบายใหม่ที่สามารถจัดการกับปัญหาระยะสั้นและระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อสถานดูแลผู้สูงอายุท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ”
การอภิปรายแบบคณะว่าด้วยผลกระทบของโควิด-19 และการแพร่ระบาดทั่วโลกที่มีต่อการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว และสมอง ที่จัดขึ้นระหว่างการประชุม AAIC 2020 ประกอบด้วยการอภิปรายของผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้
– ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
– ดร.นพ.เกรกอรี เอ จิชา จาก University of Kentucky College of Medicine ผู้อำนวยการของ Alzheimer’s Disease Center Clinical Trials Unit และรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการด้านคลินิกของ UK Alzheimer’s Disease Center
– พญ.นีลัม ที อัคราวาล นักประสาทวิทยาอาวุโสจาก Rush Alzheimer’s Disease Center Clinical Core และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Rush Heart Center for Women at Rush University Medical Center
– เบธ คาลไมเยอร์ รองประธานฝ่ายดูแลและสนับสนุนของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
– ดร.นพ.กาเบรียล เอ เดอ เอรอสควิน จาก Long School of Medicine, UT Health San Antonio ผู้ดำรงตำแหน่ง Zachry Foundation Distinguished Professor of Neurology ของ The Glenn Biggs Institute of Alzheimer’s & Neurodegenerative Disorders
www.mitihoon.com