Bluebik แนะธุรกิจประกันเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมในยุคดิจิทัลและสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ

278

มิติหุ้น – บลูบิค (Bluebik) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เผยเคล็ดลับสำหรับธุรกิจประกันว่าควรเร่งสร้างนวัตกรรมมัดใจลูกค้าด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างมีกลยุทธ์ พร้อมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจผ่านการหาพันธมิตรเพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างครอบคลุม อาทิ เข้าไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีประกันภัย หรือ Insurtech เพื่อนำนวัตกรรมที่ได้มาแก้ปัญหาหรือนำเสนอขายสินค้าด้านประกันภัยให้เหมาะสมครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้แบบเจาะจงลงลึกมากขึ้น รวมถึงจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาระบบโดยเฉพาะ พร้อมแนะ 3 แนวทางเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านสำหรับธุรกิจประกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบและเสริมแกร่งให้ธุรกิจ

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล รวมถึงล่าสุดจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรในภาคอุตสาหกรรมต่างเร่งค้นหาแนวทางเพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกองค์กรจะประสบความสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องต้นทุน ศักยภาพของบุคลากร และข้อจำกัดในด้านอื่นๆ ดังนั้น การปรับใช้เทคโนโลยีอย่างมีกลยุทธ์จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องทำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนและสามารถขึ้นเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมได้

นอกจากนั้น นายพชร ยังระบุถึงกุญแจสู่การขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยด้วยการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ Business Ecosystem เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจประกันควรดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง ดังนี้

  1. เชื่อมต่อกับเครือข่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ : การแสวงหาพันธมิตรจะช่วยให้ธุรกิจประกันสามารถนำเสนอ

ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยสามารถนำเสนอกรมธรรม์ประเภทใหม่ๆ จากกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว สู่กรมธรรม์แบบครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ไปจนถึงประกันการเดินทาง ตัวอย่างเช่นหากบริษัทประกันสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีด้าน Big Data จะสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการในเวลานั้นได้ตรงจุด นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรยังช่วยขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้า จากเดิมที่เข้าถึงผ่านช่องทางของบริษัทเพียงอย่างเดียวไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น แพลตฟอร์ม E-commerce

  1. ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีประกันภัย (Insurtech) : การเข้าไปลงทุนในบริษัท Insurtech ที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี จะช่วยให้บริษัทประกันร่นระยะเวลาในการพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ เนื่องจากบริษัทฯ จะสามารถนำระบบและเทคโนโลยีของธุรกิจ Insurtech ที่มีการพัฒนามาระดับหนึ่งไปปรับใช้และพัฒนาต่อได้ เช่นกรณีบริษัท ประกันภัยรายใหญ่ของจีน ที่เข้าไปลงทุนในบริษัท Insurtech หลายแห่ง ทำให้สามารถสร้างระบบนิเวศธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เชื่อมโยงกัน และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท เช่น การใช้ Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยทำให้ระบบการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างอัตโนมัติ รวมถึงการนำระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบและสามารถรองรับฐานข้อมูลของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาระบบ (Research and Development) : การลงทุนพัฒนาระบบและนวัตกรรมมีความสำคัญเพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว เนื่องจากจะทำให้องค์กรมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม อาทิ หากธุรกิจประกันสามารถลงทุนเพื่อพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics System) สำหรับทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าในเชิงลึก จะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการออกมาได้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด รวมถึงควรพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมต่างๆ

นายพชรยังเสริมอีกว่า นอกจากการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจแล้ว การเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านที่มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยียังมีความสำคัญต่อธุรกิจประกันภัยเช่นกัน โดยแนวทางดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้

  1. ทลายขีดจำกัดของธุรกิจ (Boundaryless) ด้วยการพยายามลดช่องว่างและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ควรมีการเตรียมพร้อมหากต้องเพิ่มการเชื่อมต่อระบบในอนาคตเพื่อพัฒนาให้ระบบการดำเนินงานต่างๆ มีความคล่องตัวมากขึ้นและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การสร้างระบบ Open API ที่เป็นการเปิดช่องทางการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น หรือการวางระบบแบบ Micro Service ที่เป็นการแยกระบบต่างๆ ออกมาเป็นส่วนย่อย ทำให้สามารถแก้ไขหรือพัฒนาระบบส่วนนั้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
  2. ปรับธุรกิจให้ยืดหยุ่น (Adaptable) เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เช่น การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อให้สามารถปรับลดหรือเพิ่มปริมาณการใช้งานให้เหมาะสมได้ในอนาคต
  3. ปรับวิธีคิดของคนในองค์กรให้พร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ (Radically Human) โดยนำหลักคิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Agile Mindset ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้กับหลายๆส่วนในองค์กรนั้น ต้องอาศัยความรวดเร็วและต้องมีแนวคิดที่เปิดกว้าง ดังนั้นวิธีคิดของคนในองค์กรจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบ

“การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและปรับธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุตสาหกรรมประกันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก หากไม่วางแผนไว้ตั้งแต่วันนี้ ก็ยากที่จะตามผู้เล่นรายอื่นได้ทัน และแน่นอนว่าการวางแผนให้เหมาะสมกับองค์กรนั้น ต้องทบทวนเพื่อประเมินศักยภาพองค์กรของตนเองด้วย เพื่อทำให้ได้ทราบแน่ชัดว่า จุดเด่น และช่องว่างขององค์กรคือสิ่งใด และเทคโนโลยีประเภทไหนที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด และจะได้เลือกเทคโนโลยีนั้นๆมาเป็นส่วนผสมในการสร้างนวัตกรรมและมอบให้กับลูกค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้ดีที่สุด” นายพชร ทิ้งท้าย

www.mitihoon.com