ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบแคบๆ หลังยอดผู้ติดโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันความต้องการใช้น้ำมัน

141

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน อีกทั้ง ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากทั้งคู่ยังมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น ได้แก่ การค้า สถานการณ์ในฮ่องกงและทะเลจีนใต้ รวมถึงที่มาของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบในตลาดจะเพิ่มขึ้น หลังการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจากเดิมอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. – ก.ค. 63 ลดลงเป็น 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. – ธ.ค. 63 อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเริ่มส่งสัญญาณปรับลดลง แม้ยังอยู่ในระดับสูง หลังความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดัน หลังรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้ 17 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 664,000 ราย โดยสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลกที่เกือบ 5 ล้านราย และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 150,000 ราย ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน ภายในระยะเวลา 11 วัน โดยเฉพาะรัฐเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และฟลอริดา ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวอาจกระทบความต้องการใช้น้ำมัน
  • ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงอีกครั้ง หลังจีนเข้ายึดสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเฉิงตู หลังจากที่ได้สั่งให้สหรัฐฯ ปิดสถานกงสุล เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่าจีนได้ทำการจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 63 ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับ 6 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 94.5 และลดลงจาก 98.3 ในเดือน มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา
  • ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานประมาณการตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ติดลบที่ระดับร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นการติดลบที่สูงที่สุดนับตั้งแต่หน่วยงานราชการของสหรัฐฯ ได้มีการบันทึกตัวเลขไว้ตั้งแต่ปี 2490 เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ0 – 0.25% และให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ในวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ การเรียนของเด็ก การกลับเข้าทำงานของพนักงานและปกป้องบริษัทเอกชนไม่ให้ถูกฟ้องร้องทางกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่มาตรการจ่ายเงิน 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสัปดาห์แก่ผู้ว่างงานจะสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนนี้
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.ค. 63 ปรับลดลง 10.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 526 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากว่าที่นักวิเคราะห์จาก S&P Global Platts คาดว่าจะลดลงเพียง 2 ล้านบาร์เรล และคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันเริ่มกลับมาฟื้นตัว
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 63 การจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ก.ค. 63 และดัชนียอดขายปลีกยุโรป เดือน ก.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ 16.6 และ 0.7 ล้านคน ตามลำดับ นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนกดดันตลาดอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ขณะเดียวกัน จีนได้ตอบโต้สหรัฐฯ โดยการเข้ายึดสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเฉิงตู เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังคงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ และทั่วโลกปรับลดลง

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2563

www.mitihoon.com