จับชีพจรตลาดรถไทยหลังโควิด : ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่ ท่ามกลางความท้าทาย

2135

จากการวิเคราะห์ของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าและถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชากร และความต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ จากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

อีกทั้งยังมีแนวโน้มใหญ่ (Megatrends) ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ต่อเนื่องถึงธุรกิจจัดจำหน่าย (Dealership) ในอนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไปใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและมีแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลง และวิถีชีวิตของคนเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า “รถคือปัจจัยที่ 5” ลดความสำคัญลง (Mobility as a service) สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง

ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ รถมือสองดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนเริ่มมองหา ในช่วงที่ภาวะการเงินของครัวเรือนได้รับผลกระทบและมีความไม่แน่นอน แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แทนการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศ จากความกังวลด้านสุขภาพ

สำหรับตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากทั้งรอบวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจากวิกฤตการณ์โควิด ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใหม่จะหดตัว 35% ในปีนี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พบว่าวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือนหรือประมาณ 6 ปี และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อยๆ โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2013 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซีและรถกระบะเ พื่อใช้สิทธิคืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิจากโครงการฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวได้ถึง 20%

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ใหม่เริ่มแผ่วลงหลังจากนั้น ก่อนถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถใหม่หดตัวแล้วถึง 37% โดยตลอดปี 2020 KKP Research คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 651,000 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้วที่ 1 ล้านคัน

มอง10ปีข้างหน้า รถใหม่ในประเทศอาจไม่กลับมามียอดขายเกิน1 ล้านคันต่อปีได้อีก

ตลาดรถยนต์ของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดีจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติการเงินโลก ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนและการแข่งขันด้านการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ลีสซิ่ง และ Captive finance ที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในทศวรรษที่ผ่านมายืนอยู่ในระดับเฉลี่ย 970,000 คันต่อปี และสามารถทะลุระดับ 1 ล้านคันได้ในช่วงปี 2012-13 และ 2018-19 ตามลำดับ

อย่างไรก็ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับต่ำลง จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง และระดับหนี้ครัวเรือนที่เริ่มตึงตัว จะทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไม่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกตลอดทศวรรษนี้ และหากเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย และประเทศในกลุ่ม BRIC รวมถึงเม็กซิโก โดยพิจารณาปัจจัยทาง GDP ต่อประชากร รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในอนาคต พบว่ายอดขายรถใหม่ต่อปีของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 660,000-870,000 คันเท่านั้น

โควิดกระตุ้นตลาดรถมือสองให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

แม้ว่ายอดขายรถยนต์ป้ายแดงจะหดตัวแล้วถึง 37% ตลอดครึ่งปีแรก แต่ยอดขายรถมือสองที่วัดจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ลดลงเพียง 15% (รูปที่ 6) สะท้อนให้เห็นสภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่นกว่าตลาดรถใหม่ เนื่องมาจากกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป รวมทั้งอาจมีบางส่วนตัดสินใจหันไปซื้อรถยนต์มือสองเพื่อทดแทนการซื้อรถยนต์ป้ายแดงมากขึ้น

อีกทั้งแนวโน้มราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงจนมีความน่าสนใจ และมีสัดส่วนรถปีใหม่ๆ (หลังปี 2015) ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากการเทขายของผู้ใช้รถที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องหรือจากการขายทอดตลาด จากข้อมูลบนเว็บไซต์ One2car ที่เป็นตลาดรถออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าจำนวนรถที่ลงประกาศขายก่อนครบรอบการเปลี่ยนรถปกติ (Replacement cycle) หรือรถมือสองที่จดทะเบียนหลังปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 6.1% จากต้นปี สวนทางกับรถปีเก่าที่มีจำนวนลดลงกว่าหนึ่งในสี่ และขยายสัดส่วนเพิ่มจาก 26% ในเดือนมกราคมเป็น 32% ในเดือนมิถุนายน

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาและการใช้จ่ายสินค้าคงทนต่างๆ มีแนวโน้มหดตัว รถมือสองหรือรถใช้แล้วกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่ารถใหม่ เนื่องจากสามารถทดแทนรถใหม่ได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก และยังเป็นตลาดแลกเปลี่ยนให้ผู้ใช้รถสามารถขยับขยายขนาด หรือประเภทของรถตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงอายุ (Life cycle) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินสดก้อนใหญ่หรือขอสินเชื่อ