ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นในกรอบแคบ จากดัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ท่ามกลางยอดผู้ติดโรคโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อ

85

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 41 – 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยับขึ้นในกรอบแคบ สะท้อนสัญญาณฟื้นตัวจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น และความคาดหวังในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศและความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ในภาพรวม นอกจากนี้ ตลาดดาดว่าจะมีอุปทานส่วนเกินเพิ่มขึ้นหลังโอเปกพลัสตั้งเป้าปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดิมที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังหลายรัฐในสหรัฐฯ มีการประกาศคลายล็อคดาวน์ โดยล่าสุดดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI) ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 9 ในเดือน ก.ค.63 หลังจากหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน และดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 54.2 ในเดือน ก.ค.63 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • นักลงทุนคาดหวังความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาในสภาคองเกรส โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นต้วของเศรษฐกิจ
  • ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง โดยลดลงมากกว่า 4% ในเดือน ก.ค.63 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการลดลงระหว่างเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.53 ส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาลงทุนทำกำไรในตลาดน้ำมันดิบและทองมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีค่าลดต่ำลง และยังดึงดูดนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นๆ ให้หันมาลงทุนในตลาดน้ำมันอีกด้วย
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. 63 ปรับลดลง 4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 518.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 3 ล้านบาร์เรล สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 79.6% ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสูงสุดนับจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมี.ค.63 นับเป็นสัญญาณฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ
  • นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันแตะระดับมากกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก และมียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 700,000 คนทั่วโลก นอกจากนั้นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และเม็กซิโก ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ต้องออกมาตรการที่เข้มงวดอีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ การปิดเมืองหรือปิดพื้นที่บางส่วน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง
  • ดัชนีภาคการบริกาคของญี่ปุ่น (Service PMI) ในเดือนก.ค 63 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 4 โดยปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 45.0 ในเดือน มิ.ย. 63 โดยดัชนีดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกัน แสดงถึงภาวะหดตัวในภาคบริการของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีกลุ่มยูโรโซนและสหราชอาณาจักรไตรมาส 2/63 ดัชนีผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯเดือนก.ค.63 รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims)

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-7 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่อาจจะอ่อนตัวลง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังคงอยู่ในสถานการณ์รุนแรง และอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค.63 จากเดิมที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดน้ำมัน