มิติหุ้น-บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ หรือ ACE โชว์ผลงานไตรมาส 2 ปี 2563 สุดปัง กำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติเติบโต 43.1% และ 16.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 ตามลำดับ แสดงให้เห็นชัดว่าธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มั่นใจทั้งปีโตต่อเนื่อง เพิ่มกำลังการผลิตและอัตราการทำกำไรตามเป้า ด้านนักวิเคราะห์แนะ “ซื้อ” ACE ด้วยราคาเป้าหมาย 5.24 บาท/หุ้น
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำด้านพลังงาน สะอาดของไทย (The Clean Energy Leader) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานใน Q2/63 ยังคงเติบโตต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการใน Q2/63 จำนวน 1,242.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.7 ล้านบาท จาก Q1/63 ซึ่งอยู่ที่ 1,216.6 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติ (ไม่รวมรายการพิเศษ เช่น กำไร(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง กำไร(ขาดทุน) จากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง และรายได้ค่าเคลมประกัน) ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 247.4 ล้านบาท ใน Q2/62 เป็น 303.1 ล้านบาท ใน Q1/63 และเพิ่มขึ้นเป็น 354.1 ล้านบาท ใน Q2/63 ซึ่งเป็นไตรมาสล่าสุด หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 43.1% YoY และ 16.8% QoQ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในช่วง Q1 และ Q2 ปี 2563 ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน ฃ
นอกจากบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบแล้วแต่กลับยังสามารถสร้างรายได้และกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติให้เติบโตต่อเนื่องได้ตามเป้า และหากพิจารณากำไรสุทธิ (รวมรายการพิเศษ) บริษัทมีกำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 843.3 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 501.5 ล้านบาท จากงวด 6 เดือนแรกปี 2562 ซึ่งเท่ากับ 341.8 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มของกำไรสุทธิที่สูงถึง 146.7% ด้านฐานะการเงินและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและการขยายการลงทุนยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 11,331.1 ล้านบาท จากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ที่ต่ำเพียง 0.27 เท่า ในขณะที่ต้นทุนของการกู้ยืมเงินของบริษัทที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งบริษัทยังมีเงินที่ระดมทุนได้จาก IPO เมื่อปลายปีที่แล้วคงเหลืออีกประมาณ 2,400 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงมีความพร้อมเต็มที่ทางด้านเงินทุนและการจัดหาเงินกู้ยืมเพิ่มเติมในอนาคตได้อีกเป็นจำนวนมากเพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทตามแผนงานที่วางไว้
ทั้งนี้ ACE มั่นใจผลการดำเนินงานทั้งปีว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพและความพร้อมสูงในการลงทุนรุกขยายกิจการ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาโครงการใหม่และการควบรวมกิจการโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งล่าสุด หลังประกาศเข้าซื้อกิจการของบริษัทผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 บริษัท กำลังการผลิตรวม 26.9 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 22.5 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ทำให้ ACE สามารถรับรู้รายได้ทันทีใน Q3/63 ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์
(COD) แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 116.0 เมกะวัตต์ (จากเดิม 9 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 89.1 เมกะวัตต์) ทำให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 239.91 เมกกะวัตต์ ประกอบกับความคืบหน้าโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (VSPP) จ.กระบี่ ที่กำลังจะแล้วเสร็จใน Q1/64 หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามเป้าเป็น 421.37 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2564 และ 1,000 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2567 อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเศรษฐกิจฐานรากจากภาครัฐ รวมถึงความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดจนพื้นฐานธุรกิจที่อยู่ใน World Mega Trend และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านนายชัยพัชร ธนวัฒโน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อเส้นทางการเติบโตของ ACE แม้กรอบเวลาโครงการของบริษัทเผชิญกับความท้าทาย ปัจจุบันราคาหุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบ 3.8-4 บาท/หุ้น หลังปรับตัวจากจุดต่ำสุดขึ้นไปถึง 82% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซื้อขายที่ PE 10.2 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ปัจจัยบวกจากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและสนับสนุนเกษตรกรของรัฐบาลผ่านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ขณะที่การลงทุนซื้อกิจการใหม่ส่งผลให้ ACE สามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตและมีโอกาสเพิ่มอัตรากำไรจากสินทรัพย์เหล่านี้ ช่วยหนุนมูลค่าของ ACE ปรับขึ้นได้อีกราว 0.04-0.05 บาท/หุ้น และหากสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบลงมาอยู่ในระดับเดียวกับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมจะเห็นผลเชิงบวกต่ออัตรากําไรตั้งแต่ Q1/64 เป็นต้นไป หลังปรับปรุงโรงไฟฟ้าเสร็จใน Q4/63 แนวโน้ม upside จะมีให้เห็นมากขึ้นจากการรีไฟแนนซ์หนี้และต้นทุน O&M ที่ดีขึ้น ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้สูงถึง 20% แนะนํา “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมาย 5.24 บาท/หุ้น
www.mitihoon.com