มิติหุ้น – “ดาร์ลิ่ง” ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตที่นอนกว่า 59 ปี เผยโฉมแบรนด์ล่าสุด “สลีปเพ็น” (Sleepen) ที่นอนและเครื่องนอนที่ผสานนวัตกรรม เพื่อสุขภาพการนอนอย่างแท้จริง เปิดตัวที่นอนแอนตี้ไวรัส รายแรกของไทยและเอเชีย ภายใต้มาตราฐานการผลิตของนวัตกรรม “ไวโรบล็อค” ที่ได้รับการยืนยันในประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัส ยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส และแบคทีเรียได้ 100% เชื่อมั่นได้ในการใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยเหนือระดับ พุ่งเป้าเจาะตลาดรวมที่นอนไทยที่มูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี เดินหน้าขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเต็มกำลัง
นางเพ็ญศรี แช่มปรีดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่นอนดาร์ลิ่ง ขอนแก่น จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนอนชั้นนำที่มีชื่อเสียงมากว่า 59 ปี เปิดถึงแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ว่า บริษัทยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเพื่อผลิตที่นอนที่ทำให้การนอนหลับพักผ่อนมีคุณภาพยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และในปีนี้ด้วยวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงทำให้บริษัทฯ ตระหนักว่าการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงมีแนวคิดในการพัฒนาที่นอนที่สามารถฆ่ายับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย และให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง โดยมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “สลีปเพ็น” (Sleepen) ที่นอนแอนตี้ไวรัส รายแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดย ดาร์ลิ่ง เดอลุกซ์ (Darling Deluxe)
“สลีปเพ็น” เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะทำให้ที่นอนและเครื่องนอนเป็น “healthcare mattress and bedding brand” ใส่ใจต่อสุขภาพในทุกมิติของการนอนอย่างแท้จริง ทั้งในมิติการซัพพอร์ทสรีระอย่างดีเยี่ยม ในแบบที่ดาร์ลิ่งเชี่ยวชาญ และในมิติใหม่ของการนำนวัตกรรมต่อต้านไวรัสมาประยุกต์ใช้กับที่นอนและเครื่องนอน เป็นหนึ่งเดียวของที่นอนที่ต่อต้านไวรัส รวมถึงแบคทีเรียและไรฝุ่น ผลิตด้วยนวัตกรรมชั้นสูง “ไวโรบล็อค” ( Viroblock) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้สิ่งทอปลอดจากการปนเปื้อน และการแพร่กระจาย ของไวรัส แบคทีเรีย บนผ้าแจ็คการ์ด ทอพิเศษจากเส้นใยวิสโคสเรยอน ผิวสัมผัสเนียน และไม่ร้อน และยังได้รับตรา “โอโค่ เท็กซ์ สแตนดาร์ด 100” (OEKO -TEX Standard 100) มาตรฐานระดับโลกเป็นเครื่องหมายยืนยันในความปลอดภัยของสิ่งทอว่าปลอดจากสารเคมีอันตราย 100 ชนิด จึงปลอดภัยต่อผิวหนังและร่างกายไม่ระคายเคือง และมีการคัดสรรวัสดุรวมถึงการออกแบบที่นอนและเครื่องนอนที่ยอดเยี่ยมที่สุด โดยการเปิดตัวด้วยที่นอนขนาดคิงส์ไซส์ ราคาเริ่มต้นที่ 49,900 บาท
“ในช่วงการเกิดการระบาดของโควิด -19 จากองค์ความรู้ ที่เราได้รับจากแพทย์และจากกระทรวงสาธารณสุข และการวิจัยเพิ่มเติม พบว่าพื้นผิวของสิ่งทอโดยเฉพาะที่นอนและหมอนเป็นพื้นผิว hosting surface ที่ เชื้อไวรัสสามารถอยู่ได้นานถึง 48 ชั่วโมง และมีการวิจัยของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention USA) พบว่าผู้ที่ถูกกักตัวในห้องพักโรงแรม State quarantine ซึ่งภายหลังได้ถูก test positive ว่าติดเชื้อแน่นอนได้ทำการแพร่เชื้อไว้ทั่วห้องพักภายใน 24 ชั่วโมง ได้มีการเก็บตัวอย่างไวรัส ปรากฏว่าพบมากที่สุดตาม ปลอกหมอน ผ้าปู ปลอกผ้านวม การแทรกตัวของไวรัสลงสู่หมอนและที่นอนจึงมีความเป็นไปได้สูงเนื่องจากผ้าปูที่นอน และปลอกหมอน รูผ้าตลอดผืนมีขนาด 6-20 ไมโครเมตร (ไมครอน) ซึ่งใหญ่กว่าขนาดของไวรัส 0.1 ไมครอน ได้ถึง 60- 200 เท่า ที่นอนและหมอนที่ถูกใช้งานยาวนานจะเกิดการหมักหมมของ microorganism อันตรายทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และ ไวรัส ” นางเพ็ญศรี กล่าว
สำหรับแผนการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย 4 ช่องทาง ดังนี้ 1.โฮมยูส แชนแนล วางแผนการวางจำหน่ายในโฮมโปร 2.ตัวแทนจำหน่ายร้านเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำทั่วประเทศ 3.การจัดจำหน่ายผ่านตัวแทน medical supply ต่างๆ 4) การจำหน่ายตรงแบบ B2C ในส่วนของลูกค้าโรงแรม และที่เป็นโปรเจค โดยมีเป้าหมายยอดขายในปี 2563 ประมาณ 10 ล้านบาท (ระยะเวลา 4 เดือน) ปัจจุบันตลาดที่นอนเมืองไทย มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะขยายตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม สำหรับปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้าจะรักษายอดขายให้ไม่ต่ำกว่าปี 2562 สืบเนื่องมาจาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งไทยและทั่วโลกอย่างรุนแรง สำหรับแผนงานส่งออกไปต่างประเทศยังดำเนินการส่งออกได้อยู่ไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากโควิด อาทิ ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์แอนตี้ไวรัสไปยังลูกค้าโรงแรมชั้นนำที่เกาะมัลดีฟส์เรียบร้อยแล้ว
นางเพ็ญศรี กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมและการแข่งขันในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักดังนี้ 1.กลุ่มตลาดระดับล่าง 2.กลุ่มตลาดระดับกลาง และ 3.ตลาดระดับสูง โดยที่นอนกลุ่มตลาดระดับล่างและตลาดระดับกลางเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ราคาเริ่มต้นที่ 7,000 – 20,000 บาท กลุ่มตลาดระดับล่างราคาเริ่มต้นที่ 3,000-5,000 บาท ทั้งนี้ในตลาดระดับล่างและตลาดระดับกลางปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก โดยคุณภาพ การบริการ หรือตัวสินค้า จะมีความคล้ายคลึงกันหมดนำไปสู่สงครามราคาที่มีการแข็งขันกันอย่างรุนแรง และยังมีความไม่แน่นอนของผู้ผลิตซึ่งอาจรวมถึงมาตรฐานการผลิตด้วย เนื่องจากพบว่ามีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ตลอดเวลาและถอนตัวในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ขณะที่แบรนด์ที่คงมาตรฐานสินค้าไว้ได้ดีส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดมาแล้วเกิน 20 ปี ซึ่งจะมีประมาณ 10 แบรนด์ในขณะนี้ ประกอบกับจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศไทยที่ต่อเนื่องมาหลายปีและด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ ส่งผลทำให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคยังคงที่ในกลุ่มสินค้าตลาดระดับล่างและตลาดระดับกลาง
อย่างไรก็ดีโดยมากแล้วราคาที่นอนตลาดระดับล่างจะใช้วัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ปลอดภัยสำหรับผู้นอน อาทิ ผ้าหุ้มที่นอนที่มาจากโรงผลิตที่ไม่ได้จัดการกับสารฟอร์มาดีไฮด์เกิดเป็นแก๊ซตกค้างอยู่ในผ้าซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งหรือคุณภาพไม่คงทนยาวเท่ากับจำนวนปีที่รับประกัน อย่างไรก็ดีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพการนอนที่สัมพันธ์ (direct co-relation) กับคุณภาพของที่นอนยังอยู่ในวงแคบ ผู้บริโภครับข้อมูลไม่ถูกต้องเรื่องที่นอน ทั้งเรื่องวัสดุ การเลือกที่นอน บริษัทฯจึงมีบทความที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการเลือกที่นอน และการนอนเผยแพร่ในเวปไซต์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องการยกมาตรฐานสุขภาพการนอนและการเลือกใช้ที่นอนที่เหมาะสมกับสรีระและงบประมาณให้กับผู้บริโภค
www.mitihoon.com