EA หนุนบริษัทย่อย ”อมิตาฯ” เซ็น MOU ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาเครื่องต้นแบบแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตฯลิเทียม และกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่

36

 

มิติหุ้น-EA หนุนบริษัทย่อย อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)” จรดปากกาเซ็น MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน มุ่งสู่การนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เพื่อต่อยอดกับแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ตอกย้ำการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับแผนสยายปีกรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า เชื่อมระบบขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าครบวงจร และต่อเนื่องไปถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหวังผลระยะยาวทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24  สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา EA และ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (หรือ “ATT”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน  ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA อย่างครบวงจรตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ผลิตเซลแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไปจนถึงการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซี่ยนที่เป็นฐานการลงทุนอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ในการดำเนินโครงการความร่วมมือนี้ ATT และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อีกทั้ง ATT จะสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโครงการจัดทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน และการศึกษากระบวนการนำโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่กลับมาใช้งานใหม่ สำหรับเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาโรงงานนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ครบวงจร ซึ่ง ATT จะนำผลการศึกษาจากโครงการไปประยุกต์ใช้ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากจบการดำเนินงานโครงการ

“การจะทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ ได้ จำเป็นต้องมีทั้งเทคโนโลยีที่ดีเป็นตัวนำ เงินทุน และการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ในด้านของบริษัท เราแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และนำเงินทุนมาลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกิจการในระยะยาว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งของประเทศเข้าร่วมพัฒนาภายใต้ความร่วมมือใน MOU นี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแบตเตอรี่นี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและยังใช้เวลานานกว่าจะพัฒนาจนเข้าสู่ระยะที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในระหว่างที่เราพัฒนาอยู่นั้น คู่แข่งจากต่างประเทศที่มีความสามารถและศักยภาพสูงก็มีการพัฒนาเช่นกันซึ่งพร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันทั้งในประเทศไทย และในตลาดต่างประเทศ จนเป็นอุปสรรคต่อภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ หากภาครัฐร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและแข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหรือยกเว้นอัตราภาษีในรูปแบบต่างๆ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยกลับมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ และฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในไม่ช้า” นายสมโภชน์กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ATT เป็นผู้ลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานสำหรับระยะที่ 1 ที่มีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการผลิตสำหรับระยะที่ 1 ได้ภายในปี 2563 หลังจากนั้น จึงจะทยอยเริ่มทำการผลิตจริง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของบริษัทฯต่อไป การร่วมศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลนี้ จะสอดรับกับแผนการบุกตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของกลุ่ม EA ในอนาคต ซึ่งจะมีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระบบขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ครบวงจร ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง อีกทั้งลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทและร่วมฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศต่อไป

www.mitihoon.com