62

ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จากการเพิ่มการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส ท่ามกลางความกังวลโรคโควิด-19ระบาดรอบสองและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 – 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบอาจเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยมีแนวโน้มถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะปรับลดกำลังการผลิตเพียง 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 63 จากเดิมที่ปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 63 อีกทั้ง จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมกซิโกและอินเดีย อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการปิดเมืองรอบสองและส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศยกระดับมาตรการกีดกันบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จากจีน โดยจำกัดการใช้เทคโนโลยี​ รวมไปถึงซอฟท์แวร์ ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหาหัวเว่ยว่าขโมยความลับทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจถูกกดดันอีกครั้ง                      

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรผ่อนคลายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 63 ลงจากเดิมที่ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 63 เหลือ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 63 ส่งผลให้อุปทานในตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 63 สูงถึงร้อยละ 95 ถึง 97 ของปริมาณที่ได้ตกลงไว้ระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร

  • ตลาดยังคงมีความกังวลจากการแพร่ระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 ซึ่งจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับรวมกว่า 23 ล้านราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 8 แสนราย จำนวนผู้ติดเชื้อในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลผ่อนปรนข้อห้ามต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ อินเดียติดเชื้อวันเดียวราว 7 หมื่นคน ส่งผลให้รัฐบาลอาจออกมาตราการปิดเมืองอีกครั้ง
  • ตลาดยังมีความกังวลว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องอาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันกลับมาได้ไม่มากนัก โดยล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2563 ในรายงานประจำเดือน ส.ค. 63 เป็น -1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2562 จากเดิมคาดการณ์ในเดือน ก.ค. 63 ความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ -7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 63 ปรับลดลง 4 แท่น สู่ระดับ 172 แท่น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2563 ลง 6 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดือนก่อนหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ของ EIA ปรับลดลงกว่า1.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 512 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 2.7 ล้านบาร์เรล
  • โรงกลั่นในจีนมีแผนที่จะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 63 เพิ่มอีกราว 20 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนเริ่มฟื้นตัวแล้ว
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสหรัฐฯ ไตรมาสที่สอง คำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 63 และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน ส.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในเดือน ก.ค. 63 ที่สูงถึงร้อยละ 95 ถึง 97 ของปริมาณที่ได้ตกลงไว้ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน

www.mitihoon.com