TPIPP ชูวิชั่น ยกระดับจะนะสู่สมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ หนุนแผนลงทุน 4 กลุ่ม ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

82

มิติหุ้น – “บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” หรือ TPIPP พร้อมผลักดันจะนะให้เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ประกอบด้วยศูนย์พลังงานสะอาด Energy Complex ชูแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม เน้นย้ำรูปแบบการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาด และสมาร์ท ซิตี้ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมเดินหน้าสนับสนุนภาครัฐ รองรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมกว่า 100,000 ตำแหน่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความยั่งยืนแก่ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ตามนโยบายความมั่นคงของประเทศ โดยโครงการเหล่านี้ ครม. อนุมัติและเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว 

 ดร.ปรกฤษฏ์ เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ภาพอุตสาหกรรมในอนาคตได้เปลี่ยนแปลงไปแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักอย่างโรงกลั่นปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็ก จะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าสะอาดและอุปกรณ์เครื่องจักรที่เกี่ยวกับเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าสะอาด เช่น อุปกรณ์ Wind Turbine, Solar Cells, Solar Pannels, รถ EV และแบตเตอรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้จะมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคใต้ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพาราและสินค้าเกษตรชั้นดี แต่ที่ผ่านมาการแปรรรูปและเพิ่มมูลค่ายางพาราและสินค้าเกษตรจะอยู่ในภาคตะวันออกเป็นหลัก เพราะนักลงทุนไม่พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคใต้เนื่องจากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก่อให้เกิดปัญหาราคายางพารา ปาล์ม และสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ผันผวน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการ 

 นอกจากนี้ในสวนอุตสาหกรรม TPIPP จะจัดให้มีการลงทุนในรูปของการร่วมทุนในอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ โรงไฟฟ้าทางเลือก อุปกรณ์รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์เดินเรือ และเครื่องบิน อุตสาหกรรมแปรรูปยาง น้ำมันปาล์ม สินค้าเกษตร ปศุสัตว์ สินค้าฮาลาล เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์ จะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เกิดขึ้นในอำเภอจะนะ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์นานาชาติ (เมดิคอลฮับ) และในภายภาคหน้าจะนะ สามารถก้าวเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน ของอาเซียนตอนล่าง ต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาอาชีพบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท มีศูนย์ราชการที่เป็นสมาร์ทซิตี้ อาคารพาณิชย์ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการค้า และการเงินนานาชาติ 

 ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการขนส่ง ท่าเรือน้ำลึก ที่อำเภอจะนะ จะกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งที่สองของจังหวัดสงขลา มีทั้งแบบ Container แบบเทกองและเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งจะช่วยรองรับการขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามา รวมถึงการส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปไปยังพื้นที่อื่น ๆ รองรับการเติบโตในอนาคต และในส่วนอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อประเทศไทยไปยังอาเซียน และจะต้องมีอุตสาหกรรมรองรับการพัฒนาทั้งรางหัวรถจักร เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังต้องนำเข้าอุปกรณ์อยู่ทั้งที่มีความต้องการในประเทศและในอาเซียนสูง 

 ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมทุกรูปแบบจะต้องมีพลังงานสะอาดมารองรับ ทั้งพลังงานจากขยะ ลม โซล่าร์ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ยังต้องนำเข้าพลังงานจากส่วนกลางหรือจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากยังไม่มีโรงไฟฟ้าเพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของภาคใต้มีอยู่มหาศาลประกอบกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV cars) ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก ซึ่งด้วยปัจจัยทั้งหลายทำให้ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ต้องโตอย่างก้าวกระโดด โดย TPIPP พร้อมจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดทุกชนิดและเชิญผู้ร่วมลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพื่อความอยู่ดีมีสุขพร้อมเสถียรภาพและความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล 

 อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวข้างต้นแล้ว และเร่งรัดให้หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้ความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้โครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล โดย ศอ.บต. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน “โครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” พร้อมนำเสนอทิศทางการพัฒนา และกรอบแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจฯ แผนการลงทุน และกำหนด (ร่าง) ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและข้อเสนอแนะของประชาชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจฯ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ภาครัฐและเอกชน ตั้งใจพัฒนาให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในงานดังกล่าว มีตัวแทนชาวบ้านและชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่จริงเข้ามารับฟังกว่าสองพันราย และได้ยืนยันร่วมสนับสนุนโครงการ เนื่องจากต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อลูกหลานในอนาคต อันได้แก่โครงการต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าในอนาคต
ซึ่งประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้า
3,700 MW, 1,700 MW จาก LNG นำเข้า 1,000 MW จากพลังงานลม 800 MW จากพลังแสงอาทิตย์ 200 MW จากชีวมวลและหรือขยะเทศบาล ท่าเทียบเรือน้ำลึก LNG และเชื้อเพลิงเหลว
ท่าเทียบเรือแบบเทกอง และ
Container สวนอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ และสมาร์ทซิตี้ 

 นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าแผนลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) หรือเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเน้นย้ำรูปแบบการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดทั้งทางบกทางทะเล และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมสนับสนุนภาครัฐ รองรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจและสังคม 

 TPIPP ได้กำหนดแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับอำเภอจะนะให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ กระจายสู่อาเซียน ประกอบไปด้วย (1) อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2) เมืองอัจฉริยะ (smart city) อาทิ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัล, ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, ศูนย์การฝึกและพัฒนาอาชีพ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและที่พักอาศัย (3) ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และ (4) ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ (LNG) ฯลฯ 

 TPIPP ได้ศึกษาโครงการเหล่านี้ เตรียมการเจรจาการลงทุนในรูปแบบร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ ขณะนี้กำลังรอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่ง ครม. ก็ได้มีมติเร่งรัดหน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เร่งรัดให้ความร่วมมือกับ ศอ.บต. เพื่อให้โครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว จากการศึกษาโครงการเหล่านี้ คาดว่าแต่ละโครงการจะมี IRR ประมาณ 15% ซึ่งจะทำให้รายรับของ TPIPP ดีขึ้นมากในอนาคตเมื่อทำโครงการสำเร็จ และจะทำให้ GDP ของประเทศโตขึ้น โดยบริษัทฯ สัญญาจะช่วยเหลือสังคมให้การว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่น ให้ทุนการศึกษา และให้ทุนพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้า พร้อมเครื่องมือสำหรับการศึกษาพัฒนานักศึกษา ให้กองทุนพัฒนาสังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเข้าใจในหมู่ชาวบ้านให้เกิดความสงบสุขให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข 

www.mitihoon.com