ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังความรุนแรงของพายุลอร่า ถล่มอ่าวเม็กซิโก กระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ

96

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 – 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (31 ส.ค – 4 ก.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบอาจทรงตัวในระดับสูง โดยตลาดกังวลความรุนแรงของพายุที่เกิดขึ้นในแถบแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก ที่กระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ราวร้อยละ 17 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของประเทศ ต้องหยุดดำเนินการผลิต อย่างไรก็ตาม จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติบนฝั่งสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร อาจส่งผลให้ปริมาณอุปทานส่วนเกินในตลาดเพิ่มมากขึ้น                 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังพายุเฮอริเคนมาร์โคและพายุโซนร้อนลอร่าเข้ากระหน่ำแถบแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่แถบนั้น ส่งผลให้บริษัทผลิตน้ำมันดิบต้องอพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน 310 แท่นจากทั้งหมด 643 แท่นในบริเวณดังกล่าว คาดว่าการผลิตน้ำมันดิบต้องหยุดชะงักราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 84 ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโก หรือราวร้อยละ 17 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนั้นโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการผลิต โดยคาดว่ามีการหยุดดำเนินการผลิตราว 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งตกราวร้อยละ 15 ของกำลังการกลั่นทั้งหมดของสหรัฐฯ
  • กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรกดดันประเทศที่ผลิตเกินข้อตกลงลดกำลังการผลิตในเดือน พ.ค.-ก.ค.63 อาทิ อิรักและไนจีเรีย ให้ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมราว 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค.-ก.ย.63 หรือปรับลด 2.31 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค.63 เพื่อชดเชยกำลังการผลิตส่วนเกินดังกล่าว ซึ่งหากประเทศดังกล่าวลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในเดือน ส.ค.63 จะทำให้การลดกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรอยู่ที่ระดับ 8.85 ล้านบาร์เรลต่อวันมากกว่าข้อตกลงเดิมที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม การผลิตของกลุ่มยังคงปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการลดกำลังการผลิตเดิมที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค. 63
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ส.ค. 63 ปรับลดลงกว่า 4.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 508 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 18 เดือน
  • Baker Hughes เปิดเผยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงราคาน้ำมันดิบตกต่ำในเดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์สิ้นสุด ณ 21 ส.ค. จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่นสู่ระดับ 254 แท่น
  • อินเดียยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศลดน้อยลง ส่งผลให้โรงกลั่นอินเดียปรับลดกำลังการผลิตลง 2.5% แตะระดับ 83.3% ในเดือน ก.ค. 63 จากกำลังการผลิตที่ระดับ 85.8% ในเดือน มิ.ย. 63
  • ตลาดยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน หลังการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (IHS Markit Manufacturing PMI) ปรับลดลงจาก 51.8 ในเดือน ก.ค.63 สู่ระดับ 51.7 ในเดือน ส.ค.63 นอกจากนั้นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (IHS Markrit Service PMI) ก็ปรับลดลงจาก 54.7 ในเดือน ก.ค.63 แตะระดับ 50.1 ในเดือน ส.ค.63 แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนที่ยังคงอ่อนแอจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของจีนและสหรัฐฯเดือนส.ค.63 ตัวเลขผู้ว่างงานของญี่ปุ่นในเดือนก.ค.63 ดัชนีผู้บริโภคกลุ่มยูโรโซนเดือนส.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยความรุนแรงของพายุที่ส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกส่งผลให้อุปทานของสหรัฐฯ หายไปจากตลาด เป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันปรับตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันความต้องการใช้น้ำมัน