ม.สงขลานครินทร์ แนะภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน กระจายฐานลูกค้า-รักษากระแสเงินสด รับความไม่แน่นอนในอนาคต

134

มิติหุ้น – นักวิชาการสงขลานครินทร์ แนะองค์กรธุรกิจเตรียมรับมือความท้าทายของโลกธุรกิจยุคใหม่ ต้องประเมินความเสี่ยงในทุกมิติ ทั้งด้านการเงินที่ต้องมีกระแสเงินสดเพียงพออย่างน้อย 6 เดือน และกระจายฐานลูกค้าเพิ่ม ลดการพึ่งพากลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว ระบุถึงเวลาสร้างมูลค่าสินค้าและทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์รับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่

ดร.พัฒนิจ โกญจนาท คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า การเกิดโรคระบาด COVID-19 เป็นทั้งวิกฤติ โอกาส และบทเรียนเพื่อการปรับตัวสู่การอยู่รอดเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ทุกธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยงในทุกมิติโดยให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีเพียงพอสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นควรมีไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

ขณะเดียวกัน ยังต้องกระจายความเสี่ยงการดำเนินงานที่ต้องมีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 1 ราย และรับฟังเสียงความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือช่องทางการจำหน่ายและการทำตลาด ที่สอดรับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เทรนด์ของสุขภาพที่ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารคลีน การทำอาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ การทำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวจับกลุ่มนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศสอดรับนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและการจับคู่การเดินทางกับประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี หรือ Travel Bubble ที่เน้นรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะที่มาพักผ่อนในประเทศอยู่เป็นช่วงเวลานาน

“COVID-19 ทำให้ทุกภาคธุรกิจต้องบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจให้รอบด้าน เพื่อวางแผนบริหารจัดการปิดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน บางเรื่องผู้ประกอบการต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจเข้ามาช่วยให้คำแนะนำก่อนตัดสินใจลงทุนดีกว่าใช้การตัดสินใจบนความเชื่อของตัวเอง ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดจากการดำเนินงานได้” ดร.พัฒนิจ กล่าว

ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร นักวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องมีหลักการบริหารความเสี่ยงจากธุรกิจที่ดี โดยคำนึงถึงปัจจัยภายนอกและภายในที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งมุมของการสาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจ การเงิน ที่ต้องมีแผนจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ซึ่งจะนำพาให้องค์กรอยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน การตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้ ไม่ควรมีภาระผูกพันทางการเงินในระยะปานกลางถึงระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าโรคระบาดจะกลับมาแพร่ระบาดอีกหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันไทยมีการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีก็ตาม

“ผู้ประกอบการต้องเริ่มคิดว่าธุรกิจเรามีความเสี่ยงภายนอกและภายใน ว่าปัจจัยใดที่มีโอกาสสร้างผลกระทบกับธุรกิจที่ระดับความรุนแรงตามสถานการณ์ และมีแผนจัดการอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้น อะไรคือจุดแข็งขององค์กรที่สามารถนำมาทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและก้าวเดินข้ามผ่านอุปสรรค เพื่อให้องค์กรสามารถทำธุรกิจภายใต้ความท้าทายของโลกธุรกิจยุคใหม่ได้” ดร.นิพัฒน์ กล่าว

www.mitihoon.com