พลิกโฉมยุทธศาสตร์ของเฟดและนัยสำคัญต่อค่าเงิน

115

การสัมมนาเชิงวิชาการประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Jackson Hole รัฐ Wyoming โดยมีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นเจ้าภาพ และผู้นำธนาคารกลางจากทั่วทุกมุมโลกเป็นแขกเหรื่อนั้นมักถูกใช้เป็นเวทีที่เฟดส่งสัญญาณการปรับแนวนโยบายสำคัญๆ มาแล้วหลายหน โดยในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม ในรูปแบบออนไลน์ ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เกริ่นนำว่าเมื่อ 40 ปีก่อน ปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินตั้งอยู่บนพื้นฐานที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าเฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ดี เฟดต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเป็นประวัติการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปรากฎว่าอัตราเงินเฟ้อกลับไม่ได้ดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามตลาดแรงงานที่ตึงตัว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อไม่สามารถยืนที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืนในระยะหลายปีที่ผ่านมา

ประธานเฟดประกาศปรับเปลี่ยนแนวทางการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ทั้งหมดเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานสูงสุดและด้านเสถียรภาพของราคา โดยระบุว่าจะพยายามทำให้เงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2% แทนที่จะเป็นเป้าหมายคงที่ที่ 2% และการตัดสินใจด้านนโยบายจะถูกประเมินด้วยการจ้างงานที่ขาดหายไป (Shortfalls) จากระดับสูงสุด แทนที่จะใช้ค่าเบี่ยงเบน (ซึ่งอาจสูงหรือต่ำกว่า) ระดับการจ้างงานสูงสุด การปรับนโยบายการเงินของเฟดบ่งชี้ว่ายุทธศาสตร์ใหม่นี้จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการจ้างงานและเฟดจะยอมอดทนต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะที่ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเกินไปจะถูกชดเชย (Make up) ด้วยการหนุนเงินเฟ้อให้อยู่สูงกว่า 2% ในระยะหนึ่งได้ การปรับกรอบดังกล่าวสนับสนุนการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0% ต่อไปอีกนานหลายปี อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังตั้งคำถามต่อประเด็นที่ว่าเฟดจะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างยืดหยุ่นได้ถึงระดับใดและใช้กรอบเวลาใดสำหรับค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ตามรอบถัดไปในวันที่ 15-16 กันยายน

เราประเมินว่าเงินดอลลาร์ในระยะกลางถึงยาวมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับนโยบายล่าสุดของเฟด โดยเฟดตั้งใจรักษาระดับอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (ผลตอบแทนพันธบัตรหลังหักด้วยเงินเฟ้อ) ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป แม้ว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แน่นอนว่าบททดสอบสำคัญอยู่ที่เฟดจะสามารถดันเงินเฟ้อสูงขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่หลังจากใช้เครื่องมือหลากหลายกระบวนท่า อนึ่ง กรณีเลวร้ายที่สุดของค่าเงินดอลลาร์ คือ หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากแต่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ จะยิ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงลดต่ำลงไปอีกจากระดับติดลบในปัจจุบัน (กราฟด้านล่าง) นอกจากนี้ เรามองว่าการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ครั้งสำคัญของเฟดอาจไม่ได้สะท้อนบริบทของสหรัฐฯ เท่านั้นแต่เป็นการสอดรับกับโครงสร้างของเศรษฐกิจการเงินโลกซึ่งอยู่ในภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำ, ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สูงเหมือนในอดีต บริบทนี้แม้จะสอดคล้องกับตลาดที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่มีประเด็นความท้าทายคล้ายคลึงกับไทยหลายประการ อาทิ สังคมสูงวัย และผลกระทบต่อการเติบโตของผลิตภาพ เป็นต้น

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com