บ้านปูฯ เดินหน้าช่วยผู้ประกอบการสู้วิกฤติเศรษฐกิจ

266

มิติหุ้น – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จับมือ ChangeFusion องค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อความมุ่งมั่นตลอด 10 ปี ในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมปรับโจทย์กิจกรรมภายใต้โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นกิจกรรมUpImpact by Banpu Champions for Change” ชวนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม 20 ทีม มาร่วมเติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจในยุค Never Normal พร้อมกิจกรรมเวิร์คช็อปเติมทักษะรอบด้านจากกูรูและผู้มีประสบการณ์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ ดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์เชิงสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมทั้งจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อเนื่องรวม 4 ครั้ง สำหรับ SE ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และประชาชนทั่วไป

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูฯ จัดกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ SE ภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นความตั้งใจของบ้านปูฯ ที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ซึ่งใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาผนวกกับแนวทางในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งในปีนี้โครงการเข้าสู่วาระครบรอบ 10 ปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดโครงการในรูปแบบเดิมจึงมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตามวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งกลุ่ม SE ในไทยที่ในภาวะปกติก่อนโควิด-19 ก็มีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เราจึงสานต่อโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมในปีนี้ด้วยการสนับสนุน SE ที่ได้รับผลกระทบให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อยังประโยชน์ให้กับทั้งชุมชน ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้เสียของพวกเขา เราเชื่อว่ากิจการเพื่อสังคมจะเป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในยุค Never Normal ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและหยัดยืนได้ด้วยตนเอง ในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ บ้านปูฯ พร้อมจับมือกับ ChangeFusion ขับเคลื่อนกิจกรรมคู่ขนาน “UpImpact by Banpu Champions for Change” ทั้งการส่งมอบความรู้และประสบการณ์แก่ผู้ประกอบการ SE และบุคคลทั่วไปที่สนใจ และยังเติมทักษะรอบด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ 20 ทีมที่ได้รับคัดเลือก นำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของตนเองให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับกิจกรรมแรก “UpImpact by Banpu Champions for Change” เปิดรับสมัครผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมทั้งหมด 20 ทีม ทั้งที่เป็นศิษย์เก่าในโครงการ Banpu Champions for Change และผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรายอื่นๆ มาเข้าร่วมเพิ่มเติมความรู้เสริมทักษะทางธุรกิจผ่านเวิร์คช็อปที่เข้มข้นที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้ทันที รวมถึงการรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากที่ปรึกษา (Mentor) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเพื่อสังคม ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อธุรกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่กิจกรรมที่ 2 เป็นการจัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) 4 ครั้ง สำหรับผู้ประกอบการ SE และผู้สนใจทั่วไปเพื่อยกระดับความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal งานสัมมนาออนไลน์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน 2563 เป็นการแบ่งปันความรู้โดยกูรูและผู้มีประสบการณ์ใน 2 หัวข้อหลักคือ

  1. “จุดประกายการทำธุรกิจเพื่อทางรอดที่ยั่งยืน” โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาให้มุมมองด้านการทำกิจการเพื่อสังคมและองค์ความรู้ในการฟื้นฟูธุรกิจหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ได้แก่
    • ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand)
    • นางสาวธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Noburo (โนบุโระ) Fintech Startup แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการสวัสดิการทางด้านการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท และ
    • ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และการตลาด จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. “เปลี่ยนเพื่อสู้ ปรับเพื่อรอด ต่อยอด SE” โดย 3 เจ้าของกิจการเพื่อสังคมที่มาร่วมแชร์กลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ช่วยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่
    • นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local alike เจ้าของโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืนที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
    • นายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง moreloop สตาร์ทอัพที่ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำเศษผ้าเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อม และ
    • นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ก่อตั้ง Once Again Hostel บูติคโฮสเทลเพื่อชุมชน และ Locall แพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับร้านค้าและคนในชุมชน

จากนี้ไป โครงการฯ ยังจะมีการสัมมนาออนไลน์ต่อเนื่องอีก 3 ครั้งเพื่อเติมความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจและต้องการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาตลาดออนไลน์ การบริหารการเงินและการหาแหล่งเงินทุน และเกร็ดความรู้อีกมากมายจากผู้รู้และผู้มีประสบการณ์

www.mitihoon.com