ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 36-41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 ก.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอินเดีย สหรัฐฯ และบราซิล โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 27.8 ล้านราย และจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 9 แสนราย ทั้งยังอาจทำให้บางประเทศพิจารณาขยายระยะเวลาในการปิดเมืองออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17 ก.ย. 63 เพื่อหารือเกี่ยวกับภาพตลาดน้ำมันโดยรวมและทบทวนเป้าหมายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีกำหนดถึงเดือน ธ.ค. 63
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง โดยล่าสุด ผู้ติดเชื้อในอินเดียพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 5 ล้านราย โดยสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) ได้ออกมายอมรับว่าเป็นการยากที่จะควบคุมการระบาดในครั้งนี้ เนื่องจากยังมีประชากรอีกมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียและสถาบันกามาเลยา ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการทดสอบวัคซีน “สปุตนิก 5” ครั้งใหญ่ หลังวัคซีนดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐบาลรัสเซียเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของรัสเซียบางส่วนเข้ารับการทดสอบวัคซีนดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้เดือนละ 1.5 – 2.0 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้
- การประกาศปรับลดราคา Official Selling Price (OSP) ในเดือน ต.ค. 63 ของน้ำมันดิบทุกชนิดประมาณ 90 – 1.50 เหรียญต่อบาร์เรล ของ Saudi Aramco เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 63 สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของตลาดน้ำมันดิบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความไม่แน่นอนของอุปสงค์น้ำมันดิบที่ยังคงกดดันตลาดในปัจจุบัน
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 ลง 21 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 93.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 6.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีนี้
- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกจีน เดือน ส.ค. 63 ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 63 และการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 ก.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 39.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน หลัง Saudi Aramco ประกาศปรับลดราคา OSP (Official Selling Price) เดือน ต.ค. 63 ของน้ำมันดิบทุกชนิด 0.90-1.50 เหรียญต่อบาร์เรล สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ซึ่งส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
www.mitihoon.com