แนะนำกองทุน RMF for PVD เมื่อต้องย้ายออกจากกองทุน PVD

1058

บทความโดย นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

จากบทความครั้งก่อนที่ได้แนะนำเพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้รู้จักวิธีรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีที่ต้องออกจากงาน ลาออกจาก PVD หรือนายจ้างยกเลิก PVD โดยการย้ายเงินจาก PVD ไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินโอนจาก PVD โดยเฉพาะ หรือเรียกว่า “RMF for PVD” นั้น เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมเสวนาในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ของสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (AOP) พบว่ามีสมาชิกหลายท่านให้ความสนใจถึงกองทุน RMF for PVD เนื่องจากในช่วงนี้มีผู้ที่กำลังประสบปัญหาจาก “วิกฤตโควิด” ส่งผลให้ต้องออกจากกองทุน PVD จึงอยากทราบว่ามีกองทุนไหนบ้างที่สามารถรองรับ PVD ได้ รวมถึงมีข้อสงสัยว่าจะเปรียบเทียบและเลือกกองทุนอย่างไร วันนี้จึงขอมาเล่าให้เพื่อนสมาชิกทราบ

  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีเงื่อนไขอย่างไร?

ก่อนที่จะแนะนำกองทุนให้เพื่อนสมาชิกรู้จัก จึงอยากเล่าย้อนไปถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF for PVD โดยมีเงื่อนไขการลงทุนเหมือนกับการลงทุน PVD คือต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี โดยนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิก PVD ที่โอนไป และถอนการลงทุนเมื่ออายุ 55 ขึ้นไป ซึ่งเมื่อย้ายไป RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นได้ด้วย

  • มีกองทุนอะไรให้เลือกลงทุนบ้าง?

ปัจจุบันมีกองทุน RMF for PVD ให้เพื่อนสมาชิกสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งหมด 128 กองทุน จาก บลจ. จำนวน 10 แห่ง โดยแบ่งเป็นกองที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) 57 กองทุน ตราสารหนี้ 34 กองทุน แบบผสม 24 กองทุน และลงในทรัพย์สินทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ 13 กองทุน โดยมีผลตอบแทนย้อนหลังดังนี้

ตารางผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ของกองทุน
RMF for PVD
เพื่อนสมาชิกจะเห็นได้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนและกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบผสมในประเทศจะติดลบเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลักคือ “วิกฤตโควิด” ที่กระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง ขณะที่การลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้จะช่วยรักษาเงินลงทุนไว้ได้ แต่ในระยะยาวแล้วจะให้ผลตอบแทนในระดับต่ำ

  • จะเปรียบเทียบและเลือกกองทุนอย่างไรดี?

จากที่ได้เคยเรียนไว้ว่าเพื่อนสมาชิกควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ตามความเหมาะสมของช่วงอายุ หรือตามความเสี่ยงที่รับได้ หากเลือกประเภทกองทุนที่ต้องการได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือกกองทุน RMF for PVD ที่จะลงทุน โดยตัวช่วยตัดสินใจคัดเลือกกองทุนทางหนึ่งคือการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับดัชนีชี้วัด (benchmark) ของกองทุนประเภทนั้น ๆ เพื่อดูว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า benchmark หรือไม่ โดยหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (fund fact sheet) เช่น กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนที่ท่านสนใจมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี -15 % แต่เมื่อเทียบกับ SET TRI* ซึ่งเป็น benchmark ที่กำหนดไว้ใน fund fact sheet มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี -19% แสดงว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานดีกว่าดัชนีชี้วัด เพราะมีผลขาดทุนน้อยกว่า

ช่วงเวลาที่ใช้คัดเลือกกองทุน ควรพิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาว เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตสูง ผลตอบแทนสูง จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสูงเช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนระยะยาว กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมสูงอาจส่งผลกระทบต่อเงินที่ท่านจะได้รับเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมสูง

สำหรับรายละเอียดการให้บริการเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อมูลติดต่อไว้ตามลิ้งก์นี้ https://www.sec.or.th/th/pages/investors/assetmanagementcompanies-info.aspx

*****************************************
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ :  *SET TRI (Total Return Index) หรือดัชนีผลตอบแทนรวม คือ ดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหุ้นให้สะท้อนออกมาในรูปของค่าดัชนี ซึ่งมีทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น (Capital Gain / Loss) สิทธิในการจองซื้อหุ้น (Rights) และเงินปันผล (Dividends)

www.mitihoon.com