ในยุคที่อะไร ๆ หากเข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวดองกับ “สีส้ม” เป็น “แสลงหู”
อย่างกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่กำลังประท้วงแหลกเป็นรายวัน ก็นัยว่ามีพรรคสีส้มอยู่เบื้องหลัง ขณะพรรคเพื่อไทย (พท.)ที่ “คุณหญิงอ้อ”กำลังเซทซีโร่ใหม่ ก็แว่ว ๆ ว่า อาจจะแปลงร่างไปเป็นสีส้มเข้าไปนั่น ทำเอาใครต่อใครนั่งไม่ติด ต่างดาหน้าออกมาแก้ต่างกันเป็นพัลวัน
ไม่ต่างจากถ้อยแถลงของฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันวานต่อกรณีการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ที่ยิ่งแถลงก็ยิ่งจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้า ประเภท “ฮาราคีรีตัวเอง” ไปซะฉิบ!
โดยผู้ว่าการ รฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ได้ออกมายืนยันนั่งยันว่า การพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขวิธีการประเมินข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งนี้ รฟม. ได้ดำเนินการตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วทุกกระเบียดนิ้ว
เพราะคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอปรับปรุงวิธีการประเมิน จากเดิมที่จะพิจารณาซองเทคนิค และซองผลตอบแทนแยกจากกัน โดยจะพิจารณาซองการลงทุนและผลตอบแทน เฉพาะผู้ที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคแล้ว มาเป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ซึ่งเป็นรูปแบบที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการฯส่วนตะวันตก ต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อน การดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง ดังนั้นผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพ เทคนิค และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิใช่เพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น
ฟังถ้อยแถลงฝ่ายบริหาร รฟม.ข้างต้นแล้ว ก็ทำเอาผู้คนสะดุ้งโหยง เพราะมันช่างย้อนแย้งกันเองเหลือกำลัง
เพราะ 1. หาก รฟม.มีความเป็นห่วงเรื่องงานที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคนิคก่อสร้างชั้นสูงจริง ก็ยิ่งต้องเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทรับเหมาที่จะเข้ามารับงาน โดยอาจเพิ่มคะแนนทางเทคนิคขึ้นไปสูงถึง 85-90% ขึ้นไปเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผู้รับเหมาะสมมีความสามารถอย่างแท้จริง ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความต้องการของ รฟม. มากกว่า
การที่ รฟม. กลับไปยกเลิกรื้อเกณฑ์ประเมินด้านเทคนิคขั้นต่ำทิ้ง แล้วไปเอาข้อเสนอด้านราคามาพิจารณาร่วม นอกจากไม่มีหลักประกันใดจะบอกได้ว่าจะคัดเลือกได้บริษัทรับเหมาที่เก่งที่สุดได้แล้ว ยังกลายเป็นความย้อนแย้งที่ทำให้ รฟม.ไปไม่เป็นอีกด้วย
2. การประเมินคะแนนเทคนิคโดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ มาคิดร่วมกับข้อเสนอผลตอบแทน เป็นการลดความสำคัญของข้อเสนอเทคนิคทั้งในส่วนของงานโยธา งานระบบฯ และงาน O&M เนื่องจากหากข้อเสนอทางการเงินมีมากพอก็จะสามารถทำให้ชนะการประมูลได้ โดยข้อเสนอทางเทคนิคอาจไม่มีความสมบูรณ์ หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการได้
3. หาก รฟม.ยังคงยืนยันว่าการปรับเกณฑ์ประเมินดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องจำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้วคงต้องย้อนถามกลับไปยัง รฟม.ด้วยว่า ที่ผ่านมามีโครงการยักษ์ใดของรัฐและของ รฟม.ที่ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้บ้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่มีงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จำเป็นจะต้องได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ทางเทคนิคชั้นสูงเช่นเดียวกัน เหตุใด รฟม. กลับไม่ดำเนินการประมูลโดยยึดเหลักเกณฑ์เช่นนี้บ้าง แต่กลับใช้วิธีพิเศษประเคนให้เอกชนผู้รับเหมา ทั้งที่เอกชนก็ไม่มีประสบการณ์ในการกดำเนินการีก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำมาก่อน
4. การปรับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก จากเดิมที่จะเปิดซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทน เฉพาะผู้ที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิคในซองที่ 1 แล้วเท่านั้น มาเป็นการเปิดซองที่ 2 และซองที่ 3 ควบคู่กัน และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทำการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นซองใหม่ตามเกณฑ์ที่กำหนดนั้น มันเท่ากับเป็นการเปิดถ้อยแทงที่ทำให้คณะกรรมการสามารถจัดการการคะแนนในส่วนซองเทคนิคได้ง่าย เนื่องจากรู้แล้วว่า ข้อเสนอการเงินแต่ละรายมีมูลค่าเท่าไหร่ มีความแตกต่างของคะแนนเท่าไหร่ สามารถดำเนินการ manipulate ผลการประมูลที่จะออกมาได้
และ 5. หากการปรับปรุงเกณฑ์ประเมินดังกล่าวไม่มี “วาระซ่อนเร้น” ใดๆ แล้ว เหตุใด รฟม. ถึงต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนเอากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโครงการนี้โครงการเดียว ในเมื่อพื้นฐานการประมูลโครงการดังกล่าว ก็ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ของรัฐและ รฟม.เอง เหตุใด รฟม.ถึงเพิ่งจะมาละเมอตื่นปรับปรุงเกณฑ์ชี้ขาดเอากับโครงการนี้ โดยปล่อยให้มีการประมูลในรูปแบบเดิมไปนับ 10 โครงการ และ หากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ คือความจำเป็นอันยิ่งยวดที่จะต้องดำเนินการแล้ว นั่นก็แสดงให้เห็นว่า การประเคนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีต่างๆของ รฟม. ในช่วงที่ผ่านมา ล้วนแต่ทำให้รัฐและประเทศชาติสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาลอย่างนั้นหรือ เพราะต่างดำเนินการประมูลบนบรรทัดฐานที่ไม่ได้มีการประเมินตามหลักเกณฑ์นี้
และหากถึงที่สุดแล้ว โครงการนี้ต้องถูกกระตุกเบรก จนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินการประมูลได้ตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้ จนทำให้ประชาชนคนกรุงต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
จะโยนเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามมาตรา 36 บอร์ด รฟม. กระทรวงคมนาคม หรือรัฐบาล!!!
เห็นแค่ชื่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ขนลุกขนพองสยองเกล้าแล้ว ยิ่งเมื่อฝ่ายบริหารและบอร์ด รฟม. ดั้นเมฆดำเนินการไปเช่นนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองเห็นอนาคตอันยุ่งเหยิง ไม่เพียงแต่รถไฟฟ้าจะไม่มาหาเธอ ยังจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้า ไม่ต่างจาก “พรรคสีส้ม” ที่ทำอะไรก็จ่อเรียกแขกให้งานเข้า ยังไงยังงั้น!
ที่มา: http://www.natethip.com/news.php?id=3086
โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน
www.mitihoon.com