SKY จับมือ TU เดินหน้าสนับสนุนการศึกษา เปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมนำเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ มุ่งสู่การเป็น Smart University

180

มิติหุ้น-บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง Digital Learning Center (DLC) และ LSED Co-Working Space เพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดไอเดียใหม่ๆ พร้อมสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งสู่การเป็น Smart University

นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัย ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับประเทศ กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง Digital Learning Center (DLC) และ LSED Co-Working Space ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต     โดยโซน Digital Learning Center (DLC) จะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ และทำกิจกรรม ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจนวัตกรรมและเทคโนโลยี และโซน Co-Working Space จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สำหรับนักศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน อีกทั้งเป็นการเสริมบรรยากาศให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ต่อไป

“บริษัทฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นักศึกษาจะต้องเข้าถึงบทเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรและผู้ใช้งานในยุคดิจิทัล ช่วยให้เข้าถึงการค้นหาข้อมูลการเรียน การทำงาน และทำกิจกรรม การสื่อสาร รับ-ส่งข้อมูล เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาควบคู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย พร้อมมุ่งสู่การเป็น Smart University” นายสิทธิเดช กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า นอกจากให้การสนับสนุน       Co-Working Space & Digital Learning Center (DLC) แล้ว บริษัทฯ ยังร่วมพัฒนาหลักสูตร AI ร่วมกับบริษัท Sensetime และกลุ่มอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาและบุคคลากรที่มีความสนใจด้าน AI และหลักสูตรจะถูกบรรจุเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางให้ระบบการศึกษายังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายระบบเครือข่ายสัญญาณไร้สาย (WiFi) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆ โดยจะดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายสัญญาณไร้สายด้วยเทคโนโลยี WiFi6 ของบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ และเป็นการปรับปรุงระบบเครือข่ายให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการกระจายสัญญาณให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น รองรับต่อจำนวนอุปกรณ์สัญญาณไร้สายของนักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมากขึ้น

ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า การสร้างพื้นที่มหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด โดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเรียน การสอน รวมไปถึงการร่วมพัฒนาหลักสูตรด้าน AI นั้น จะทำให้บุคลากรทางการศึกษารู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะกระทบกับเราในอนาคต ถือเป็นการเปิดประตูสู่การศึกษาที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง

www.mitihoon.com