วสท.ร่วมกับ บจก.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เร่งรองรับแผนพัฒนาระบบรางไทย เผยเวียดนามผลิตประกอบรถไฟ-รถไฟฟ้า

73

มิติหุ้น – วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วสท. ร่วมกับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดย ดร.สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จัดโครงการสัมมนา เรื่อง “นโยบาย แผนพัฒนา เทคโนโลยี และมาตรฐานความปลอดภัยในระบบรางของไทย” ให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยมี ดร.พิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดงาน  เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และศักยภาพการพัฒนาด้านระบบรางของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับแผนพัฒนาระบบรางสู่ยุคใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ณ ห้องประชุมอาคาร วสท. รามคำแหง 39

ผศ.ดร.รัฐภูมิ  ปริชาตปรีชา ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งทางรางถือเป็นการคมนาคมขนส่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในแผนโครงสร้างพื้นฐานของหลายๆประเทศในอาเซียนและทั่วโลก เนื่องจากเป็นการขนส่งทางบกที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน  และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การมีเส้นทางรถไฟที่ครอบคลุมพื้นที่ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ยังเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถในการ แข่งขันที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในประเทศไทยเองก็ได้มีแผนพัฒนาระบบขนส่งทางรางด้วยการวางงบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง

วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “นโยบาย แผนพัฒนา เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยในระบบรางของไทย” โดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ส่วนความปลอดภัยและคุณภาพ แผนกความปลอดภัย ร่วมกับ คณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วสท.ฯ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแผนการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ความสำคัญของมาตรฐานและระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง ทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับแผนพัฒนาระบบรางในชีวิตวิถีใหม่และอนาคตของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วสท. กล่าวเสริมว่า  ในด้านมาตรฐานและแผนพัฒนามาตรฐานระบบรางของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายหลังจากที่มีการประชุมหารือร่วมกันในการประชุมแผนพัฒนามาตรฐานระบบรางแห่งอาเซียน ที่ประเทศไทย โดย วสท. เป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2018 นั้น  ปัจจุบันพบว่าทุกประเทศต่างตื่นตัวและวางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันสามารถผลิต-ประกอบรถไฟ รถไฟฟ้าและหัวรถจักรเองได้แล้ว สำหรับประเทศเวียดนามมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานของตัวเองโดยปัจจุบันได้พัฒนามาตรฐานระบบล้อเลื่อนและอุปกรณ์ประกอบแล้วถึง กว่า 30 มาตรฐาน โดยมีพื้นฐานมาจากมาตรฐานยุโรปและมาตรฐานสากล (EN and ISO) อย่างไรก็ตามประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยนควรร่วมมือกันเพื่อสร้าง มาตรฐานกลางอาเซียนด้านระบบราง เพื่อการใช้งานร่วมกันได้โดยเฉพาะมาตรฐานสำหรับทางรถไฟขนาด 1 เมตร เพราะในอนาคตหากมีการสร้างทางเพื่อเติมเต็ม Missing Link ก็จะทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้แบบไร้รอยต่อเช่นเดียวกับประเทศในทวีปยุโรป ทั้งนี้นอกจากประโยชน์ด้านการเดินทางแล้ว ยังจะสร้างอำนาจการต่อรองและดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคอีกด้วย

www.mitihoon.com