มิิติหุ้น – บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP เผยทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” สะท้อนภาพธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงาน โดยธุรกิจสาธารณูปโภคมีแนวโน้มเติบโตจากครึ่งปีแรกภายหลังสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ด้านธุรกิจพลังงานยังคงได้รับกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอจากเงินปันผลในธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมถึงโอกาสในการเติบโตจากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโซลาร์รูฟท็อปอย่างต่อเนื่อง
ดร. นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกทั้งธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานภายหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งและ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มปิโตรเคมีได้กลับมาดำเนินงานตามปกติ รวมถึงลูกค้าใหม่ก็มีการเริ่มการผลิตทำให้ความต้องการใช้น้ำกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่ายอดขายน้ำรวมทั้งไทยและเวียดนามสำหรับทั้งปีจะอยู่ที่ระดับประมาณ 120 – 130 ล้านลูกบาศก์เมตรจากครึ่งปีแรกที่ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัด (Reclaimed Water) และ การผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยในครึ่งแรกของปี 2563 ได้มีการเปิดดำเนินงาน Reclamation Plant กำลังผลิต 5,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเพื่อผลิตน้ำอุตสาหกรรมเกรดสูง (Premium Clarified Water) พร้อมกันนี้ได้เตรียมเปิดดำเนินการโครงการใหม่ ซึ่งประกอบด้วยโครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังผลิต 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) และโรงงานผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ เฟส 2 เพื่อให้บริการแก่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
ในส่วนของธุรกิจพลังงาน บริษัทฯ ได้เดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจพลังงานทดแทนควบคู่กับการพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโดยมีกำลังการผลิตรวมแล้วทั้งสิ้น 11 เมกะวัตต์ โดยมีแผนเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเติมอีกราว 15 – 20 เมกะวัตต์ในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และส่งผลให้สิ้นปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 592 เมกะวัตต์ จากปี 2562 ที่มีกำลังการผลิตเท่ากับ 559 เมกะวัตต์
นอกจากนั้น บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ P2P Energy Trading Platform โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับพันธมิตร เพื่อให้บริการภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ และพันธมิตรอยู่รsะหว่างการศึกษาช่องทางการเชื่อมต่อกับ platform ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยบริษัทฯ มีแผนยื่นผลการทดสอบเพื่อเข้าร่วมโครงการทดลองนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ ERC Sandbox ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มขึ้น
ล่าสุด ทริสเรทติ้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” สะท้อนถึงฐานะการดำเนินงาน ภาพรวมธุรกิจและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง การได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอจากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานทางเลือก อาทิ การขยายธุรกิจสาธารณูปโภคไปยังลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โซลาร์รูฟท็อป การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม (Waste to Energy) ตลอดจนโอกาสการเข้าลงทุนในกิจการหรือการซื้อสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯสามารถเติบโตทั้งแบบออร์แกนิคและอินออร์แกนิคไปพร้อมๆ กัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทมีฐานรายได้และส่วนแบ่งกำไรที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการชำระหนี้และการดำเนินงานของบริษัทฯ
www.mitihoon.com