ตลาด สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนกันยายน 2563

109

มิติหุ้น-ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความล่าช้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ SET Index ปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 24.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่า SET Index นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Non-SET100 และ mai) ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 47,896 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในเดือนนี้ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี ในขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.76 แสนล้านบาท โดยผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ

ในเดือนกันยายน 2563 มีกิจกรรม IPO อย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 รวมแล้วมีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

·        ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 24.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า

·        เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่า SET Index นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์  โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Non-SET100 และ mai)

·        มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 47,896 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

·        ในเดือนนี้ ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี

·        ในเดือนกันยายน 2563 มีกิจกรรม IPO อย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 SETมีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN

·        Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 21.4 เท่า และ 20.7 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า และ 18.1 เท่าตามลำดับ

·        อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.56% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.83%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

·        ในเดือนกันยายน 2563 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 432,512 สัญญา เพิ่มขึ้น 16.9% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจาก SET50 Index Futures และ Single Stock Future และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 466,117  สัญญา เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เพิ่มขึ้นจาก SET50 Index Futures และ Gold Online Futures

www.mitihoon.com