ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP ดำเนินธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดย “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” เปิดเผยว่า กรณีที่ราคาหุ้น CKP เมื่อวันที่ 1-6 ต.ค.63 ที่ผ่านมาเผชิญ “แรงเทขาย” อย่างหนัก โดยราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงถึง 0.91 บาท หรือ 18.80% นั้น
แม้จากรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ แต่ฝ่ายวิจัยมองว่าน่าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศเกิดความไม่สบายใจจึง “ทยอยขายหุ้น CKP” ออกมาอย่างหนาแน่น
ได้แก่ 1.การปรับ Port ของกลุ่มนักลงทุนช่วงเดือน ต.ค. ฝ่ายวิจัยมองว่าเป็นการปรับพอร์ตตามรอบปกติของนักลงทุน 2. มีความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำฝนที่ลดลง ใน สปป.ลาว แต่ปัจจุบันทุกโรงไฟฟ้าภายใต้การบริหารจัดการของ CKP ยังคงสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าส่ง กฟผ. ได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงไตรมาส 3/63 เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้า “โรงไฟฟ้า ไซยะบุรี”สามารถได้เดินเครื่องเกือบ 100% อีกด้วย
ส่วน 3.มีกระแสข่าวรัฐบาลชะลอการรับซื้อไฟ ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นว่า ปัจจุบันการรับซื้อไฟฟ้ายังเป็นไปตามกรอบของ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล สปป. ลาว และสอดคล้องกับ PDP 2018 สำหรับนโยบายที่รัฐบาลพิจารณาในเรื่องการลดอายุของโรงไฟฟ้าประเภทใช้ก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ถือเป็นปัจจัยบวกกับโรงไฟฟ้า “พลังน้ำ” ของ CKP เพราะไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลในประเด็นนี้
4. กรณีที่บริมาณไฟสำรองปัจจุบันมี Reserve อยู่ที่ประมาณ 30 –40% ซึ่งอาจมองว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยเพียงพอแล้ว อาจไม่จำเป็นที่ต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก แต่ความเป็นจริงเมื่อ GDP กลับขึ้นมา Growth ความต้องการพลังงานจะสูงขึ้นตาม GDP ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น การสร้างโรงไฟฟ้าจะไม่ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำรองไว้ เพื่อให้รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ทันเวลา
ด้าน “บล.กรุงศรี” เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง “เชิงบวก” ต่อหุ้น CKP เพราะได้รับอานิสงส์สภาพอากาศแบบ La Niña ทำให้มีปริมาณฝนตกสูงและน้ำเข้าเขื่อนทำระดับสูงสุดในเดือน สิงหาคม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นในไตรมาส 3/63 คาดกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 35 เท่าเป็น 1.2 พันล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจาก 1.กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) เพิ่มขึ้น 77% mom หรือ 31% yoy เป็น 5,337 CM/s ส่งผลให้โรงไฟฟ้า XPCL ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้จากโมเดลของฝ่ายวิจัยคาดว่า XPCL จะสร้างกำไรได้ราว 380 ล้านบาทต่อเดือนในกรณีที่ใช้กำลังการผลิตไฟฟ้า 100% และ 2. ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนน้ำงึม 2 (NN2)ที่สูงขึ้น 223% mom หรือ 18% yoy เป็น 1,390 MCM ต่อเดือน คงคำแนะนำ “ถือ” เป้าหมาย 5.25 บาท
www.mitihoon.com