ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ว่า เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการโรงแรมอื่นๆ AWC มีรายได้จากแขกชาวต่างชาติสูงกว่า โดยมีสัดส่วน 90% ในปี 2562 ทว่า เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ในปัจจุบันและพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป (อาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น) ซึ่งอาจลดการเดินทางเพื่อธุรกิจ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการฟื้นตัวของ AWC จะช้ากว่ารายอื่นๆ และคาดว่า AWC จะขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านบาทในปี 2563 และขาดทุนอีก 198 ล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า AWC จะกลับมามีกำไรในปี 2565 ที่ 1.1 พันล้านบาท
การซื้อสินทรัพย์เสร็จสิ้นในไตรมาส 1/63
ตามแผนนับตั้งแต่ IPO เป็นต้นมา AWC ได้เข้าซื้อกิจการจาก TCC ครบ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและจะเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทำให้รายได้และกำไรระยะสั้นค่อนข้างน้อย ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าสินทรัพย์ใหม่เหล่านี้จะเป็นภาระของ AWCในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ไม่ปรากฏให้เห็น นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมฝ่ายวิจัยถึงคาดว่าจะพลิกมีกำไรที่ช้าออกไปเป็นปี 2565
เงินสดยังเหลือเฟือสำหรับการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม
หลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงปลายปี 2562 งบดุลของ AWC ถือว่าแข็งแกร่ง คาดว่าอัตราส่วน D/E สุทธิจะอยู่ที่ 0.71 เท่า ณ สิ้นปี 2563 และ AWC ยังได้รับอนุมัติวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทสำหรับการซื้อทรัพย์สินของโรงแรมที่มีปัญหา ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า หากใช้ทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท อัตราส่วน D/E สุทธิจะเท่ากับ 1.13 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกหำนดสินเชื่อที่1.5 เท่า ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ได้มาอาจเป็นภาระแม้ว่าจะไม่สามารถทำกำไรได้จนกว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์โควิด
ซื้อขายที่ P/E ปี 66 ที่ 37.4 เท่า
ฝ่ายวิจัย ประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธี DCF ได้ราคาเป้าหมายที่ 3.25 บาท (WACC 9.6%,LTG 2.5%) หุ้น AWC ซื้อขายที่ P/E ปี 2566 ที่ 38.4 เท่า ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ และคิดว่าส่วนลดไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากแนวโน้มรายได้ที่ไม่ดีและการฟื้นตัวช้ากว่าโรงแรมอื่นๆ ดังนั้นจึงแนะนำให้เปลี่ยนไปเล่น MINT ซึ่งเป็นหุ้นเด่นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ เนื่องจากคาดว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากอัตราการเข้าพักโรงแรมในยุโรป