มิติหุ้น – วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการอำนวยการ เปิดเวทีเสวนา เรื่อง แนวทางในการต่อสัญญางานภาครัฐจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางวดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา โดยได้รับเกียรติจากคุณกฤษณา ลิ่มสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาฯ สำนักงานอัยการสูงสุด, คุณสมศักดิ์ ภู่สกุล ผู้อำนวยการกองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง, คุณอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษา โดยมีบุคคลากร ผู้ประกอบการและผู้บริหารในอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุเข้าร่วมงานกว่า 150 คนและมีการถ่ายทอดออกอากาศผ่านทางเพจของ ว.ส.ท. ณ ห้องประชุม วสท. รามคำแหง 39
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เนื่องด้วยภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าจะสงบนั้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท และมีเงินค่างวดที่ยังคงค้างอยู่ในระบบกว่า 3 – 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้โดย 4 สมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันหาแนวทางบรรเทาผลกระทบที่เกิดเพื่อเป็นการลดผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการที่ทำงานไม่ทันตามกำหนดในสัญญา ทำให้ถูกเรียกค่าปรับจากทางราชการ การขาดสภาพคล่องทางการเงิน การจ่ายค่าจ้าง เสี่ยงทำให้เกิดภาวะทิ้งงาน และเกิดความเสียหายต่อทางราชการ อันจะส่งผลต่อวิกฤติของเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วิกฤติโควิด 19 ยังส่งผลกระทบกลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างและผู้จัดจำหน่ายพัสดุตามการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่โครงการของรัฐบาล เนื่องจากพัสดุสำหรับการก่อสร้างภายในประเทศหลายรายการเริ่มขาดแคลนไม่มีวัตถุดิบที่จะนำมาผลิต อีกทั้งปัญหาจากการขนส่งพัสดุเข้าหน่วยงาน เครื่องจักรอุปกรณ์หลักในงานก่อสร้างที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศไม่สามารถนำเข้าหน่วยงานได้ตามที่กำหนดไว้ รวมถึงปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลนเนื่องจากการเดินทางกลับประเทศตน ซึ่งไม่สามารถคาดการได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษา กล่าวว่า จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินงดเว้นการออกนอกเคหะสถานและการเดินทางเข้า – ออกพื้นที่ ส่งผลให้บริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษา ไม่สามารถดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่น ไม่สามารถจัดการประชุมร่วมกับประชาชนหรือประชุมทางวิชาการได้ การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและในกลุ่มคณะขาดความคล่องตัว การเดินทางไปทำงานทั้งในสำนักงานและภาคสนามกระทำได้ยากลำบากขึ้น การประชุมตรวจรับผลงานของผู้ว่าจ้างมีอุปสรรคล่าช้า จึงทำให้งานที่ปรึกษาล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้
นายสมศักดิ์ ภู่สกุล ผู้อำนวยการกองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เป็นแนวทางปัฎบัติเหมือนกันทั้งประเทศคือ ว171/2563 และ ว423/2563 เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณา งดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้คู่สัญญาภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็น “เหตุสุดวิสัย” คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดชอบ มีรายละเอียดแนวทางการแก้ปัญหาให้สรุปได้ดังนี้
กรณีสัญญามีค่าปรับ ให้ดำเนินการดังนี้
1.1 หากเหตุยังไม่สิ้นสุดให้คู่สัญญาแจ้งความประสงค์จะของด หรือลดค่าปรับอันเนื่องจากเหตุโควิคดังกล่าวโดยไม่ต้องรอเหตุสิ้นสุด พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าจ้างโดยยังไม่หักค่าปรับจากปัญหาโควิด-19 ออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างเมื่อผลกระทบจากกรณีโรคโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป
1.2 หากเหตุดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว และหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณาจำนวนเงินค่าปรับได้ ให้หักค่าปรับออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างสำหรับการจ่ายเงินในงวดนั้น ๆ โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป
กรณีสัญญากำหนดแบ่งการชำระเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างเป็นงวดเดียวหรือกรณีที่คู่สัญญาส่งมอบพัสดุในงวดสุดท้าย ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นโดยให้ถือว่าได้รับผลกระทบโควิค-19 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉินเรื่องสถานการณ์โควิค
- เอกสารหรือหลักฐานที่ใช้เพื่อแจ้งผลกระทบการปฎิบัติตามสัญญาจากปัญหาโควิค เช่น (1) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกระทรวงแรงงาน หรือประกาศจังหวัดที่เกี่ยวกับการจำกัดการเดินทาง เป็นต้น (2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ผลิตมีการยกเลิกสายการผลิตของสินค้านั้น (3) หนังสือที่คู่สัญญาแจ้งเหตุให้หน่วยงานของรัฐทราบ (4) รายงานผู้ควบคุมงานกรณีงานก่อสร้าง เป็นต้น
4.ข้อสำคัญในการใช้การพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีงานก่อสร้างจะพิจารณารายงานผู้ควบคุมงาน ว่าระบุว่าคู่สัญญาภาครัฐได้รับผลกระทบหรือไม่
ด้าน นางกฤษณา ลิ่มสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาฯ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวสรุปว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาคู่สัญญาของภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด-19 ได้ขอใช้สิทธิในสัญญาให้หน่วยงานของรัฐพิจารณางดหรือลดค่าปรับหรือขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้กับคู่สัญญา เพื่อช่วยเหลือคู่สัญญาของรัฐ ทั้งผู้ประกอบการด้านออกแบบ ก่อสร้างและจำหน่ายพัสดุกับภาครัฐ จากเหตุดังกล่าวที่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย คู่สัญญาสามารถขอใช้สิทธิในสัญญาให้หน่วยงานของรัฐนำเหตุดังกล่าวไปพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวได้
www.mitihoon.com