ผู้ผลิตเหล็กสนับสนุนพาณิชย์ตอบโต้หลบเลี่ยงอากร ชี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาระดับอาเซียน

260

มิติหุ้น-กลุ่มฯเหล็ก ส.อ.ท. เห็นพ้องสมาคมผู้ผลิตเหล็กไทย สนับสนุนการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าเพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม ชี้หากไม่ผิดแจงพาณิชย์เว้นบังคับใช้ได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้สินค้าในประเทศตามนโยบายรัฐบาล

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูกไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความขอบคุณ และให้ความเห็นกรณีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายที่มีความจำเป็น และสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการปรับปรุงเพื่อเพิ่มเติมข้อบัญญัติว่าด้วยเรื่องการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมาตรการ AC นี้เป็นมาตรการสำหรับสินค้าทุกประเภทที่มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และ/หรือ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน แล้วมีการเปลี่ยนรูปแบบทางการค้าเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการขึ้น ส่งผลให้มาตรการมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งมาตรการ AC นี้มีการบังคับใช้หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย โดยกฎหมาย AC ดังกล่าวจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในข่ายของการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริง ซึ่งหากในท้ายที่สุดไม่ใช่การหลบเลี่ยงมาตรการก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆทั้งสิ้น

สำหรับปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าในภูมิภาคอาเซียนที่มีการหารือในสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน (South East Asia Iron And Steel Institute : SEAISI) มาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะปัญหาการเจือธาตุอัลลอยด์บางประเภทเพียงเล็กน้อยเพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากร ในกรณีของไทยจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 แสดงข้อมูลการนำเข้าเหล็กเจืออัลลอยด์ที่คาดว่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า และอากรนำเข้าประมาณกว่า 430,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,100 ล้านบาท โดยสินค้าเจืออัลลอยด์นี้ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในข่ายของมาตรการทางการค้า และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเนื่องจากเป็นพิกัดศุลกากรที่ใช้สิทธิประโยชน์ของเขตการค้าเสรี (ภาษีนำเข้าลดลจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจากการสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรของภาครัฐ

ทั้งนี้การบังคับใช้มาตรการ AC นี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สามารถใช้แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการเหล็กในอาเซียนจากปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อผู้ผลิตเหล็กในอาเซียน

นายวิโรจน์  โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากปัญหาโรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าเหล็กไทยในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม ปี 2563 ปรับลดลงเหลือ 10.97 ล้านตัน จาก 12.79 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือคิดเป็นปรับลดลงถึงร้อยละ 14.2 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศปรับลดลงเหลือร้อยละ 29.8 จากร้อยละ 33.9 ในช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือคิดเป็นลดลงถึงร้อยละ 12.9 ดังนั้นการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมในประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก สำหรับการส่งออกสินค้าเหล็ก ปัจจุบันไทยถูกสหรัฐอเมริกาบังคับใช้มาตรการ Section 232 โดยหนึ่งในสาเหตุหลักคือการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการที่เป็นการป้องกันการเป็นฐานในการผลิตสินค้าที่มีพฤติกรรมการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า

ดังนั้นการที่ไทยมีกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสที่ดีในการแสดง และชี้แจงต่อสหรัฐอเมริกาถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าดังกล่าว

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่มีสมาชิกรวมกันกว่า 470 บริษัท ซึ่งร่วมกันผลักดันการบัญญัติข้อกฎกมายว่าด้วยเรื่องการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศนี้ ได้ชี้แจงว่า มาตรการ AC เป็นมาตรการที่ช่วยให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนที่เป็นเป็นธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหากสินค้าที่นำเข้ามีลักษณะ หรือคุณสมบัติพิเศษจริงก็จะไม่ถูกใช้มาตรการ นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อสินค้าจากประเทศที่มีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น สำหรับประเทศที่มีการค้าที่เป็นปกติ ไม่มีการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

www.mitihoon.com