ปัจจัยรุมเร้าค่าเงินยูโร คาดปิดเมืองรอบใหม่ฉุดเศรษฐกิจยุโรป

275

มาตรการปิดเมืองระลอกใหม่ในยุโรปและอังกฤษสร้างความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ยอดผู้ป่วย COVID-19 พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ เบลเยี่ยม และออสเตรียได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน และแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ถึงขั้นหยุดชะงักงันเหมือนที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 แต่ค่าเงินยูโรและเงินปอนด์กำลังสะท้อนความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลชี้วัดการเคลื่อนที่ของประชากรแสดงถึงแนวโน้มที่ชะลอตัวลงในหลายเมืองหลัก (กราฟด้านล่าง)

 

ในบทความนี้ เราจะขอพูดถึงทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มยูโรโซนเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าเงินยูโรเป็นสำคัญ โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณหลังการประชุมวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อปูทางไปสู่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม นักลงทุนคาดว่าอาจจะเป็นการซื้อพันธบัตรมากขึ้นผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP), การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารภายใต้มาตรการ Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTRO) หรือแม้กระทั่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี ระบุว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดฉุดรั้งเศรษฐกิจของยูโรโซนอย่างชัดเจน และแม้ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ถึงการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3 ในอัตรา 12.7% ซึ่งสดใสกว่าที่ประเมินไว้ และเทียบกับการหดตัว 11.8% ในไตรมาส 2 แต่เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ยังเผชิญความเสี่ยงด้านขาลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เราตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นแนวโน้มการลดดอกเบี้ยนั้น ประธานอีซีบีได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาพิจารณานอกเหนือจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินยูโรในปี 2564 หลังทิศทางการเมืองและแนวนโยบายของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และพันธบัตรเยอรมันที่ปรับตัวกว้างขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อเงินยูโรในระยะสั้นเช่นกัน โดยเราคาดว่าเส้นทางการอ่อนค่าของเงินยูโรจะสะดุดลงเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มพูดถึงการเพิ่มขึ้นของ Yields ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ

ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com