กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town ที่จ่อเรียกแขกให้งานเข้า
กับเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้าน ที่การรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โม้แป้งมาร่วมปี จนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 63 ไฟเขียวให้ลุยได้เต็มสูบจะได้โชว์เป็นผลงาน ”ชิ้นโบแดง” กู้หน้าให้รัฐบาลได้บ้าง
เพราะเหลียวมองผลงานของรัฐบาลยามนี้ ล้วนแต่งานเข้า จะนับเอาผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระดมกันเกือบทุก สน. ไปไล่ยัดข้อหา “ม็อบคอซอง” กันเป็นรายวัน หรือที่เจ้ากระทรวงดีอีเอสไปไล่ปิดเว็ป Pornhub กับไล่ฟัด Facebook รึก็ใช่ที่ เพราะมีแต่เรียกแขกให้งานเข้า
แต่ไม่รู้ รฟม. ไปทำอิท่าไหน รถไฟฟ้า(ใกล้)มาหานะเธอ ทำท่าจะเรียกแขกให้งานเข้าซะงั้น!!!
มีอย่างที่ไหน กำหนดหลักเกณฑ์การประมูล (RFP) กันมาเป็นปี ๆ จนนำเสนอหลักเกณฑ์ผ่านบอร์ด คลัง กระทรวงคมนาคมต้นสังกัด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว จนออกมาเป็นประกาศเงื่อนไขประมูล และขายซองประมูลให้เอกชนเอากลับไปศึกษาเป็นวรรคเป็นเวรกันไปหมดแล้ว จนใกล้ถึง “ไทม์ไลน์” ที่กำหนดให้เอกชนยื่นซองประมูลอยู่รอมร่อ 23 กันยายน 2563
จู่ๆ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก (คณะกรรมการตามมาตรา 36) กลับลุกขึ้นมารื้อและเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลคัดเลือกใหม่กันดื้อๆ แถมเกณฑ์ใหม่ที่ว่าก็หาได้มีหลักประกันจะทำให้ รฟม.ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพอย่างที่อ้าง เพราะแทนที่จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคเพื่อให้ได้ผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ
แต่เกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 ผุดขึ้นมากลับรื้อเพดานเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคขั้นต่ำที่ว่าทิ้ง แล้วไปเอาข้อเสนอทางการเงินมาพิจารณาร่วมแทนมันซะงั้น ซึ่งเป็นการลดทอนคุณสมบัติด้านเทคนิคที่นอกจากจะ “ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่ รฟม.กล่าวอ้างแล้ว ยังเป็นการแหกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่อผิดกฎหมาย ขัดบทบัญญัติมาตรา 38 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ที่จ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าเสียอีก!
ล่าสุด ศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ให้ รฟม. ทุเลาการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอาไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา พร้อมสั่งให้ รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 กลับไปใช้เกณฑ์เดิมตามเอกสารประกวดราคา(RFP) ที่ออกไปแล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเกณฑ์ประมูลโครงการรัฐโดยทั่วไป แม้แต่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่ารถไฟฟ้าของ รฟม.หลายเท่าตัว หรือการประมูลรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ของ รฟม.เอง
เรื่องเหมือนจะ “แฮบปี้ เอนดิ้ง” เพราะเมื่อมีคำสั่งศาลออกมาเช่นนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็น่าจะเดินหน้าจัดประมูลต่อไปได้ แต่ที่ไหนได้ ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ยังคงมีลูกฮึดจะอุทธรณ์คำสั่งศาล เพื่อขอให้ศาลฎีกายกเลิกคำสั่งทุเลาเกณฑ์คัดเลือกใหม่ดังกล่าว พร้อมสั่งเดินหน้าให้บริษัทเอกชนยื่นซองประมูลเข้ามาตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
ท่ามกลางข้อกังขาจากทุกฝ่ายจะให้ยื่นซองประมูลกันไป ทั้งที่ยังไม่รู้ว่า รฟม.จะใช้เกณฑ์ใดตัดสินชี้ขาดอย่างนั้นหรือ? หรือจะให้ยื่นประมูลกันไปตามหลักเกณฑ์เดิมตามคำสั่งศาลก่อน แต่หาก รฟม.อุทธรณ์ใช้เกณฑ์ใหม่ได้ ค่อยเอามาปรับเปลี่ยนอย่างนั้นหรือ?
เกิดประมูลตามเกณฑ์เดิมแล้ว ได้ผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนรายหนึ่งไปแล้ว ขึ้นแท่นเตรียมเข้าหอลงโรงกันแล้ว แต่พอหงายไพ่เอาหลักเกณฑ์ใหม่ไปจับกลับ “พลิกล็อค” ได้ผู้รับเหมาอีกรายขึ้นมาแทน มันจะไม่ยุ่งขิงเป็นยุงยกพวกตีกันหรอกหรือ?
น่าแปลก! ขณะที่ รฟม.ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ เพราะไม่สามารถจะรอผลการชี้ขาดจากศาลปกครองได้ ด้วยเกรงจะทำให้โครงการประมูลล่าช้า แต่วันวาน รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกลับยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเลื่อนส่งคำให้การเพิ่มเติมออกไปเป็นเดือน
อ้าว! ก็ไหนว่ารอศาลปกครองตัดสินชี้ขาด (มกราคม 64) ไม่ได้กลัวโครงการจะล่าช้า แล้วไปยื่นประวิงเวลาขอส่งเอกชนเพิ่มเติมไปชาติหน้าทำไมกัน ตกลงต้องการจะเร่งรัดเดินหน้าโครงการ หรือปูเสื่อรอประมูลชาติหน้าก็ยังได้กันแน่ เอาให้จั๊ดๆ ท่านผู้ว่าฯ
ที่จริงหนทางในอันที่จะให้การประมูลโครงการนี้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น ไม่ล่าช้าลากยาวเป็นมหากาพย์ ก็มีเพียงการกลับไปใช้เกณฑ์ประเมินตามเงื่อนไขประมูลเดิม ( RFP) ที่ รฟม.ขายซองประมูลออกไปแล้วเท่านั้นแหล่ะ หาใช่การ “ดั้นเมฆ” ดันทุรังจะงัดเอาเกณฑ์ประเมินชี้ขาดใหม่ที่กำลังเรียกแขกให้งานเข้าอยู่นี้มาใช้
เพราะหากแม้ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ เปิดทางให้ คณะกรรมการตามมาตรา 36 เดินหน้าจัดประมูลได้สมใจอยาก บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล อย่าง BTS ก็คงจะร้องแรกแหกกระเชอตามมาอยู่ดี ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้กระบวนการประมูลโครงการนี้ต้องทอดยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน – 1 ปี ความเสียหายส่วนนี้ที่คงทะลักกันเป็นพันล้าน คงได้เรียกแขกให้งานเข้าอีก
จึงไม่น่าแปลกใจหรอก ที่วันวานจะเห็นสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) ออกโรงยื่นหนังสือร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้ล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติของการประมูลโครงการนี้ โดยเร็ว
มีอย่างที่ไหน กำหนดหลักเกณฑ์การประมูล (RFP) กันมาเป็นปี ๆ จนนำเสนอหลักเกณฑ์ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว จนออกมาเป็นประกาศเงื่อนไขการประมูลและขายซองประมูลให้เอกชนรับเหมาเอาไปศึกษากันเป็นวรรคเป็นเวรกันไปหมดแล้ว กลับลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวรื้อเกณฑ์และเปลี่ยนแปลงเกณฑ์คัดเลือกกันดื้อ ๆ
จะไม่ให้ผู้คนเขาเข้าใจว่า มี Invisible hand ที่ไหนชักใยอยู่เบื้องหลังได้อย่างไร จริงไหมท่านผู้ว่าฯ ภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ที่เคารพ!