“กรุงศรี คอนซูเมอร์” วางกลยุทธ์โตแกร่ง คุมNPLพยุงลูกค้าจ่ายจนจบ ชูดิจิทัลขยายฐานสินเชื่อ

189

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัท ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2563 ชี้ให้เห็นว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่กลับมาในระดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

โดยวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกวัยเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายที่ได้จากบริการออนไลน์ แม้คลายล็อคดาวน์แล้ว บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม เช่น หมวดช้อปออนไลน์, สินค้าตกแต่งบ้าน, บริการสั่งอาหาร, สตรีมมิ่งและบันเทิงออนไลน์ ขณะที่บางหมวด หลังคลายล็อคดาวน์ ก็เริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น หมวดโรงแรมในประเทศ, หมวดร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ความงามและเครื่องสำอาง ทั้งนี้ หมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยยังมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ หมวดประกันภัย และซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ

เน้นดิจิทัลคุมต้นทุน-ขยายสินเชื่อ
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส3/63 ผลการดำเนินงานของกรุงศรี คอนซูเมอร์ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงล็อคดาวน์ โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ระดับ 196,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 58,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 133,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังผันผวน โดยมีการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

 

โดยนำเอาดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยกระดับคุณภาพการบริการ เช่น บริการส่งใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-billing),การใช้ระบบดิจิทัล เวิร์คโฟลว์ และการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ รวมถึงบริการใหม่ๆ ในแอปพลิเคชั่นยูชูส (UCHOOSE) เช่น U Manage บริการที่เปิดให้สมาชิกบัตรสามารถดำเนินการผ่านแอปด้วยตนเอง เป็นต้น

บริษัทคาดว่า การปรับแนวทางต่างๆ ดังกล่าว จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส4/63 เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 และคาดว่าทั้งปี 2563 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 280,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท

เปิดมาตรการช่วยลูกค้า-รักษาNPL
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นบริหารจัดการหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อย่างเข้มข้น เพื่อคุมระดับไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีความยืดหยุ่นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ประสบปัญหาจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะมีมาตรการต่างๆ ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ ที่ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นสูงสุดถึง 96 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ NPL ของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และต้องถือว่าไม่ได้สูงเกินไปกว่าคาดการณ์ โดยในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด สินเชื่อบัตรเครดิตมี NPL ที่ราว 1.37% หลังโควิดขยับขึ้นมาเป็น 1.5% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวขึ้นมาที่ระดับราว 3% จากก่อนโควิดที่ระดับ 2.9% ซึ่งถือว่าไม่ได้เร่งตัวขึ้นสูงจนน่ากังวล และปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

www.mitihoon.com