SCN พาบริษัทย่อย ‘SAP’ ลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชนร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 11 ราย

295

 

 

มิติหุ้น-บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้นำด้านธุรกิจพลังงาน พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก นำโดย ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พาบริษัทย่อย “บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด” หรือ SAP จัดพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชนระหว่าง บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด กับ กลุ่มผู้ประกอบการมากถึง 11 ราย ได้แก่ 1.บริษัท บี.ที. โอโต้พาร์ต จำกัด 2.บริษัท พรีซิชั่น แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด 3.บริษัท มิตรพล พลาสติก จำกัด 4.บริษัท จรูญรัตน์ โปรดักส์ จำกัด 5.บริษัท วรรณประไพ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  6.บริษัท คินูงาว่า (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท ซี พี อาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท บรรจง อินดัสเตรียล จำกัด 10.บริษัท สแควร์ พาแนล ซิสเต็ม จำกัด และ 11.บริษัท สยามชัยพอยท์ จำกัด จำนวนกำลังการผลิตรวม 6.58 เมกะวัตต์ ในวันพุธที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2563

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เผยว่า “SCN ให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ว่าส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก ทุกวันนี้เรามักจะเห็นการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่สะอาด เช่นการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา มลพิษทางอากาศ PM2.5 และโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ”

“SCN มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการเร่งโลกร้อน ในประเทศไทยเราถือเป็นองค์กรต้นๆที่เริ่มรณรงค์ให้เกิดความห่วงใยและหันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างถูกต้อง โดยเรามีนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆตลอดเวลา เช่น ก๊าซธรรมชาติสะอาดหลายรูปแบบ เราสนับสนุนการรถเมล์ใช้ NGV ด้วยเป็นการคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาดซึ่งได้มาจากก๊าซธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ในขณะที่ภาครัฐยังส่งเสริมการใช้ดีเซลที่มีราคาถูก แต่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เรามีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนดินรวม 226 MW และวันนี้ SCN มีความภูมิใจสูงที่ได้ทำให้ผู้ประกอบการได้ประหยัดตั้งแต่วันแรกด้วยเงินลงทุนเพียง 0 บาท กับโมเดล Private PPA และช่วยลดการเกิดโลกร้อนและ PM2.5”

“แน่นอนว่า SCN ไม่เคยหยุดศึกษาและพัฒนาด้านพลังงาน เรามีแผนที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ใน SAP เพื่อให้เกิดความประหยัดและสะอาดมากขึ้นให้กับประเทศชาติต่อไป” ดร.ฤทธี กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสารชา ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด เผยถึงเป้าหมายและทิศทางของ บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด ในปี 2020 ว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ ภาคส่วนได้รับผลกระทบในวงกว้าง แต่ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด ของเรายังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นกำลังการผลิตที่จำเป็นต่อโรงงาน ประกอบกับผู้ประกอบการหลายราย ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในโรงงานของท่าน ทำให้ความต้องการติดตั้ง Solar Rooftop ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เราได้ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ภายในปลายปีนี้ ณ วันนี้เรามีในมือแล้วกว่า 17 เมกะวัตต์ เชื่อมั่นว่าสามารถสำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เรายังมีการตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 110 MW ภายในปี 2023 ที่จะถึงนี้อีกด้วย”

“ทั้งนี้ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด เป็นการรวมตัวกันของผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมาอย่างยาวนาน เรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ตลอดจนการพัฒนาระบบภายในองค์กร เราใส่ใจกับการคัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานระดับ Tier 1 ที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน สามารถลดต้นทุนและสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยตอกย้ำความเป็นมืออาชีพของ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย”

www.mitihoon.com