กลุ่มทรู เผย EBITDA Q3/63 เพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้า ตามระบบนิเวศดิจิทัลในกลุ่มทรูพร้อมบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

58


มิติหุ้น – กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน พยุงรายได้จากการให้บริการที่ 26.5 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ทำให้กำลังซื้อชะลอลง รวมทั้งรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นในการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของระบบนิเวศดิจิทัลที่กลุ่มทรูมีครบวงจร ส่งผลให้เป็นรายเดียวที่มี EBITDA เติบโตทั้งจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 19 และจากไตรมาสก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 2 เป็น 9.4 พันล้านบาทในไตรมาส 3 หรือ 13.4 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 30 จากปีก่อนหน้าหากรวมผลกระทบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16)    ผลักดันผลการดำเนินงานช่วงเก้าเดือนแรกของปีให้เติบโตด้วย EBITDA รวมจำนวน 38.6 พันล้านบาท สร้างกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดในการบริหารต้นทุน และเพิ่ม productivity ในทุกภาคส่วนทำให้เพิ่ม margin ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างกำไรให้เติบโตเข้มแข็งในปีหน้าต่อไป อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ยุค 5G และเร่งปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย    จะเป็นก้าวสำคัญให้กลุ่มทรูเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากธุรกิจ New S-Curve อย่างที่เคยเป็นมาในทุกช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ทั้ง 3G 4G และต่อเนื่องมาสู่ 5G

นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “กลุ่มทรูรายงาน EBITDA เติบโตต่อเนื่องในไตรมาสสาม ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคโดยรวมมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ก็เป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างปรับตัวเข้าหาดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น    เพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ทุกที่ทุกเวลา   เป็นผลให้รายได้ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและรายได้จากธุรกิจดิจิทัลของกลุ่มทรูยังคงเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมมือถือในประเทศยังได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในระหว่างไตรมาส แต่การเปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะ True5G พร้อมด้วยแพ็กเกจที่เพิ่มมูลค่าและผสานคอนเทนต์ VR และ AR จะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตดาต้าและขยายฐานลูกค้าพรีเมียมให้กับกลุ่มทรูได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ผนวกกับความมุ่งมั่นในการเพิ่ม productivity และความครบวงจรของระบบนิเวศดิจิทัลของกลุ่มทรูที่ไม่เพียงสร้างความผูกพันตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมากของธุรกิจดิจิทัล หรือ New S-Curve ที่มีความพร้อมในการขายและให้บริการด้านดิจิทัลที่มากยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรให้กับกลุ่มทรูได้อย่างยั่งยืน”

นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “กลุ่มทรูมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายและบริการที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เพิ่มความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่า การเปิดตัวเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยปีนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการช่วยพัฒนาสังคมและนำพาประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มทรูยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแรงขับเคลื่อนนี้ พร้อมกันนี้เราได้มุ่งเพิ่มการขายและบริการไปในช่องทางอีคอมเมิร์ซและช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ บริการทรูไอเซอร์วิส ออฟฟิเชียลไลน์แอคเคาท์ พร้อมนวัตกรรมมะลิแชตบอต ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและฟีเจอร์ที่หลากหลายสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า  โดยได้รับรางวัล Best Official account in Tech   ในกลุ่ม  Telco & Entertainment  จากงาน  Line Thailand Awards 2020 ที่ผ่านมา รวมทั้งแพลตฟอร์มพันธมิตรอย่าง WeMall ทรูมันนี่ และพันธมิตรร้านค้าออนไลน์อื่นๆ สิ่งเหล่านี้ ช่วยให้กลุ่มทรูสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มยอดผู้ใช้บริการให้กับหลากหลายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทรูได้อย่างสูงในไตรมาสสามที่ผ่านมา”

ทรูมูฟ เอช ขยายฐานลูกค้าระบบรายเดือนอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิระบบรายเดือนที่สูงสุดในอุตสาหกรรมจำนวน 269 พันราย ในไตรมาส 3 ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนเติบโตในอัตราแบบเลขสองหลักจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยังคงกดดันรายได้ในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและรายได้จากบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการ 19.9 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 ผลักดันรายได้จากการให้บริการในช่วง 9 เดือนให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนเป็น 60.2 พันล้านบาท มีฐานผู้ใช้บริการรวมจำนวน 30.1 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 20.8 ล้านรายและระบบรายเดือน 9.3 ล้านราย ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช จะเดินหน้าให้ความสำคัญกับคุณภาพโครงข่ายการบริการที่ครอบคลุม พร้อมเพิ่มมูลค่าผ่านคอนเทนต์คุณภาพที่ตรงตามความต้องการและ ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเปิดตัวเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นทางการ ตลอดจนแนวโน้มการใช้งานและดีไวซ์ 5G ที่โมเดลพรีเมียมจะออกสู่ตลาดมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสร้างการเติบโตให้ ทรูมูฟ เอช ผ่านเครือข่าย 5G ประสิทธิภาพสูงสุด ท่ามกลางอุตสาหกรรมมือถือที่มีจำนวนผู้ใช้งานสูงอยู่แล้วในปัจจุบัน

ทรูออนไลน์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอันดับ 1 ของไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งและรางวัลแบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2019-2020 ประเภท ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จากนิตยสาร Marketeer ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยทรูออนไลน์มีรายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 6.8 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 หนุนโดยฐานผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 111 พันรายเป็น 4.1 ล้านราย ทั้งนี้ การยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการคุณภาพสูงเป็นกลยุทธ์หลักที่ทรูออนไลน์มุ่งเน้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเสนอ True Gigatex Fiber Router และ Mesh WiFi นวัตกรรมเทคโนโลยี Band Steering ใหม่ล่าสุดที่รวมคลื่น WiFi ทุกความถี่เป็นหนึ่งเดียว พร้อมเลือกสัญญาณที่ดีที่สุดให้อัตโนมัติ การเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ตรงตามการใช้งานของลูกค้าและการอัพเกรดบริการด้วยสิทธิประโยชน์จากทรูการ์ด สิ่งเหล่านี้ร่วมกับความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับทรูออนไลน์

ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยรายได้หลักจากการบอกรับเป็นสมาชิกปรับตัวดีขึ้นหลังจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มทรงตัว ขณะที่แพ็กเกจพรีเมียมกลับมาเติบโตและมีแนวโน้มเชิงบวกตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ การมุ่งเน้นด้านออนไลน์มากยิ่งขึ้น แพ็กแกจแบบ A-la-Carte ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด ตลอดจนรายได้จากเครือข่าย Influencer หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสร้างการเติบโตให้กับทรูวิชั่นส์ต่อไป ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้า 4.0 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 หนุนโดยกลุ่มลูกค้าประเภทพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อนหน้า

ทรูไอดี เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์สูงถึง 311,000 ครั้ง หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ยอดการรับชมวิดีโอต่อเดือนยังเติบโตขึ้นสูงสุดถึง 240 ล้านวิว ทั้งนี้การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (English Premier League) ยังคงเป็นหนึ่งในคอนเทนต์หลักที่สามารถดึงดูดให้มีผู้ใช้งานทรูไอดีมากขึ้น โดยมีการซื้อแพ็กเกจสำหรับรับชมทั้งฤดูกาลในช่วงเปิดขายล่วงหน้าเพิ่มมากกว่า 3 เท่าจากปีก่อน สำหรับแพลตฟอร์มดิจิตอลบนจอโทรทัศน์อย่าง กล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตต่อเนื่องด้วยยอดกว่า 1.8 ล้านกล่อง สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้รายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์ดิจิทัลและรายได้จากโฆษณาของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เติบโตในอัตราเลขสองหลัก ในขณะเดียวกัน ทรูยู สร้างความผูกพันของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยแคมเปญ “ทรูพอยท์ใจป้ำ” สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานใหม่ได้ถึงร้อยละ 16 และมียอดการเข้าร่วมแคมเปญสูงถึง 9.5 ล้านครั้ง และแคมเปญ “TruePoint Carnival Party” มียอดการเข้าร่วมถึง 4.6 ล้านครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน โดยมีผู้ใช้งานซ้ำและกลับมาแลกทรูพอยท์ถึงร้อยละ 40

ในส่วนของลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น เพิ่มจำนวนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการแล้วกว่า 281,000 อุปกรณ์ในไตรมาส 3 โดยในกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร ได้เปิดตัวโซลูชั่น True Digital Smart Crop ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ที่เชื่อมต่อกันทั้งระบบ เช่น Smart drone ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์สภาพอากาศ วางแผนรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยปรับลดค่าใช้จ่ายได้ ในขณะที่ กลุ่มเทคโนโลยีการจัดการอาคาร ได้ร่วมมือกับธุรกิจบริหารจัดการอาคารพาณิชย์ชั้นนำเพื่อทดสอบระบบ Property Integration System ที่ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถจัดการการใช้งานพื้นที่ในบริเวณส่วนกลางทั้งในเชิงป้องกันและเชิงรุกได้ สำหรับตลาดผู้บริโภค ได้นำเสนอโซลูชั่น Smart Living ต่างๆ เช่น Home Center application, Home IoT sensors และอุปกรณ์ Homecare อื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์สาธารณูปโภคต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

www.mitihoon.com